รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 26 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 29, 2014 11:03 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 57 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 205.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -19.6 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 180.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -22.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 171.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -24.6 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 8.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 85.8 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 37.9 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคม 16.3 พันล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 15.1 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 25.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี งปม. 58 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงปม. เบิกจ่ายได้ 525.5 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.4 ของวงเงิน งปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -69.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -23.3 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -93.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 10.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ชดเชยการขาดดุล ขาดดุลเท่ากับ -83.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ดุลการคลังรัฐบาลขาดดุลจำนวน -278.7 พันล้านบาทโดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ -261.1 พันล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน -17.6 พันล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ 30.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินโดยชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้เงินจำนวน 25.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้เพื่อการชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 252.9 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ เดือน พ.ย.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 242.9 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 29,242 คัน หรือ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -27.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -28.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจาก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการใช้จ่าย ภาคครัวเรือนในภาคการเกษตร ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ประชาชนชะลอการบริโภคสินค้าออกไปก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 57 ปริมาณ การจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -42.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 43,826 คัน หรือหดตัวร้อยละ -17.4 จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง ตามยอดขายรถกระบะ 1 ตันในเดือนพ.ย.57 ที่หดตัวร้อยละ -22.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -2.2 จากเดือนก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -9.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -4.5 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นกลม (สัดส่วนร้อยละ 11.7) ที่หดตัวร้อยละ -11.5 ต่อปี ปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย (สัดส่วนร้อยละ 65.1) ที่หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายเหล็กเคลือบสังกะสี (สัดส่วนร้อยละ 12.9) ที่หดตัว ร้อยละ -20.9 ต่อปี ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัว ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การลงทุนภาคการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคง ชะลอตัว
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -2.2 จากเดือนก่อน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในการก่อสร้างยังคงหดตัว เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงทรงตัว
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.5 เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การค้าชายแดนยังคงขยายตัวได้ดี กอปรกับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงิน การขาดแคลนวัตถุดิบและความผันผวนของราคาวัตถุดิบ
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.9 ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหาร และแฟชั่นอาจมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนมาที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากตัวเลขปรับปรุงที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ1.0 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง และการบริโภคภาครัฐที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกรอบ 4 ปี ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายบ้านเดี่ยวที่หดตัว ขณะที่ยอดขายคอนโดมีเนี่ยมไม่ขยายตัว โดยราคาบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 205,300 ดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากราคาคอนโดมีเนี่ยม ที่ลดลงด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 4.4 แสนหลัง หรือคิดเป็นหดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายบ้านในภาคใต้ (สัดส่วนร้อยละ 56.8 ของยอดขายบ้านใหม่รวม) ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -6.4 ขณะที่ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาบ้านในทุกภูมิภาคที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

Japan: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาอาหารและค่าขนส่งโทรคมนาคม อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อนหน้าจากการผลิตสินค้าในเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ยกเว้นสินค้าทั่วไป ยาและเครื่องเวชภัณฑ์ส่วนบุคคลที่ยังคงขยายตัวเร่งขึ้น

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 57 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -10.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -11.6 จุด หลังจากที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค. 57 โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ครัวเรือนมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าขนส่ง และราคาบ้านที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

Phillippines: mixed signal

มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (สัดส่วนร้อยละ 16.4 ของการนำเข้ารวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 จากการส่งออก ที่น้อยกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 57 กลับมาขาดดุล 33.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.2 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้า ในทุกหมวดย่อยที่ชะลอลง ยกเว้นราคาสินค้าหมวดอาหารซึ่งขยายตัว เร่งขึ้นเล็กน้อย

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาคการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจไต้หวันในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากร้อยละ 10.2 และร้อยละ 9.1 ในเดือน ก.ย. 57 และเดือน ต.ค. 57 ตามลำดับ แต่ยังคง ถือว่าสามารถขยายตัวได้ในอัตราค่อนข้างสูง จากอานิสงส์ของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

United Kingdom: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ปรับลดจากตัวเลขปรับปรุงที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการลงทุนที่ต่ำกว่าคาดและการนำเข้าที่สูงกว่าคาด อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขปรับปรุง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 25 ธ.ค 57 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,504.89 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายรายสัปดาห์เฉลี่ยต่อวันเบาบางที่ 37,085 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งดัชนีในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเป็นกลุ่มที่ปรับลดลงมากที่สุด สาเหตุสำคัญจากการลดขนาดพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 - 25 ธ.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,478.63 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1-5 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเป็นผลจากการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 และ 6 เดือนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพียง 0.87 และ 0.85 เท่าของยอดการประมูล และจากการปรับตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 57 ขึ้นจากการประกาศครั้งก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 - 25 ธ.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,919.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 25 ธ.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 จากสัปดาห์ก่อน โดยเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นหยวนจีนที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้น ร้อยละ 0.40 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 24 ธ.ค. 57 ปิดที่ 1,170.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,195.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ