ฉบับที่ 61/2557
วันที่ 29 ธันวาคม 2557
"เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขณะที่การท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า"
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 ว่า "เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 สะท้อนเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขณะที่การท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า" ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า
การบริโภคภาคเอกชนในพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณทรงตัว สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 โดยเมื่อพิจารณาแบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศพบว่า ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าหดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี ตามการลดลงของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในภูมิภาค และ กทม. ที่หดตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวลงเช่นกัน และส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -27.7 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 68.8 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังมีการฟื้นตัวใไม่เต็มที่ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในชนบทลดลง
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 หดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ที่หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -8.8 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน 2557 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงทรงตัว สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ -8.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี
ภาวะการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2557 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2557 จำนวน -69.7 พันล้านบาท มาจากการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 162.3 พันล้านบาท ขณะที่เบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้จำนวน 205.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ 2 เดือนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 มีอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเท่ากับร้อยละ 20.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 (2.575 ล้านล้านบาท) และรัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ -261 พันล้านบาท
สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2557 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยการส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่ ยางพารา รวมถึงการหดตัวในระดับสูงในสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในด้านภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการปรับตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยเป็นการลดลงจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ สำหรับภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี กอปรกับผลผลิตยางพาราปรับตัวลดลงจากปัญหาฝนตกชุกในเขตพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ดี ภาคบริการ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือนตุลาคม 2557 ที่กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี หลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ที่กลับมาขยายตัวเป็นกลุ่มแรก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่กลับมาขยายตัวสูงร้อยละ 58.9 ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.10 แสนคน สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 158.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่าอันจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง