Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 มกราคม 2558
Summary:
1. แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลคาดส่งออกไทยสะอื้น ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.3
2. หนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 46.12
3. ราคาน้ำมันปิดสัปดาห์ที่สองยังคงร่วงต่อเนื่อง
1. แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลคาดส่งออกไทยสะอื้น ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.3
- แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 57 จะยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าตัวเลขการส่งออกในช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาจะมีโอกาสเติบโตเป็นบวกได้ แต่ก็ไม่สามารถไปชดเชยการส่งออกในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 57 ที่ประเมินว่าจะหดตัวถึงร้อยละ -0.4 ได้ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 1
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าในปี 57 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงตลาดอินโดจีน (CLMV) ที่เป็นตลาดส่งออกใหม่ที่สำคัญของไทยในการพยุงภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางชะลอตัวลง เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ความเสี่ยงจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรปในสินค้าส่งออกไทย และความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศฮ่องกง และจีน โดยสศค. คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ -0.2 ถึง 0.4 (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57)
2. หนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 46.12
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 57 มีจำนวน 5.62 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.12 ของจีดีพี และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะ ลดลงสุทธิ 1.42 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สาธารณะดังกล่าวแยกเป็น หนี้ของรัฐบาล 3.94 ล้านล้านบาท ลดลง 4,282 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.07 ล้านล้านบาท ลดลง 5,792 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน รัฐบาลค้ำประกัน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน รัฐบาลค้ำประกัน 5.89 แสนล้านบาท ลดลง 2,648 ล้านบาท หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,957 ล้านบาท ลดลง 1,490 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า ทิศทางหนี้สาธารณะของไทยในเดือน พ.ย. 57 ปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 46.5 สะท้อนถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 98.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.6 ของยอดหนี้สาธารณะ) สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเสถียรภาพเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมในปี 57
3. ราคาน้ำมันปิดสัปดาห์ที่สองยังคงร่วงต่อเนื่อง
- จากความเคลื่อนไหวของตลาดน้ำมันโลกในสัปดาห์ที่สอง ราคาน้ำมันดิบของโลกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน ก.พ. ในตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก (NYMEX) ปิดที่ระดับ 48.36 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 43 เซนต์ คิดเป็นร้อยละ -0.9 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.พ. ในตลาดล่วงหน้าลอนดอนปิดที่ระดับ 50.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 85 เซนต์ คิดเป็นร้อยละ -1.7 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันทั้ง 2 ประเภทอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เดือน เม.ย. 52
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันยังคงปรับลดลงต่อเนื่องลงสู่ต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล จากท่าทีของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย UAE และคูเวต ที่ยังเน้นย้ำจุดยืนที่ชัดเจนถึงการไม่ยอมลดระดับการผลิตแม้ราคาจะต่ำกว่านี้ก็ตาม โดย นาย อาลี อัลไนมี รัฐมนตรีน้ำมันของชาอุดิอาระเบียกล่าวว่า OPEC จะไม่เปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าวแม้ราคาจะลงไปสู่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม ด้านการผลิตในสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวของการขุดเจาะแล้วในบางส่วน โดยเริ่มมีการยกเลิกสัญญาการขุดเจาะแล้วทั้งสิ้นจำนวน 8 ราย นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าน่าจะมีการยกเลิกสัญญาดังกล่าวอีก 50 ถึง 60 รายจากราคาที่ตกต่ำ นอกจากนี้ ยอดแท่นขุดเจาะที่มีการดำเนินงาน (Active rigs) ยังลดลงถึง 61 แท่น เหลือ 1,421 แท่น ซึ่งเป็นการลดลงสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2534 สศค. มองว่าต้องจับตาดูตัวเลขการผลิต ณ สิ้นเดือน ม.ค. นี้ เพื่อประเมินความเคลื่อนไหวราคาอีกครั้ง เนื่องจากการผลิตยังขยายตัวได้สูงในเดือนก่อนหน้า ขณะที่สัญญาณการชะลอการผลิตในสหรัฐฯ เริ่มแสดงออกมาให้เห็น โดย สศค. คาดว่าทั้งปี 58 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย จะอยู่ที่ 65.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าราคาน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257