รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 มกราคม 2558

Summary:

1. ม.หอการค้า ชี้ส่งออกไทยปี 58 ไม่สดใส คาดขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี

2. พาณิชย์เผยยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ ธ.ค.57 โตร้อยละ 14.0

3. ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 57 เกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

1.ม.หอการค้า ชี้ส่งออกไทยปี 58 ไม่สดใส คาดขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี
  • คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ไทยยังคงเผชิญปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 58 ไม่สดใส ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 2.34 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 58 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-5.5 ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57 เนื่องจาก 1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2) การเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 9 ประเทศ (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 26.0 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด) 3) การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว และพม่าคาดว่าจะส่งออกได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 4) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งในการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามการอ่อนค่าของเงินบาทและต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยปี 58 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่น 2) การตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
2. พาณิชย์เผยยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ ธ.ค.57 โตร้อยละ 14.0
  • อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ในเดือน ธ.ค.57 มีจำนวน 3,321 ราย หรือขยายตัวร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในปี 57 มีการจดทะเบียนจัดตั้ง จำนวน 59,468 ราย หรือหดตัวจากปี 56 ที่ร้อยละ -12.0 ตามการลดลงของธุรกิจค้าสลากและธุรกิจบริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ ในขณะที่ในปี 58 คาดว่าการจดทะเบียนจัดตั้งฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. การจดทะเบียนธุรกิจห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ในเดือน ธ.ค. 57 ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนที่ดูจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนธ.ค.57 ที่กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 99.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวการลงทุนในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้เป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และ 2. ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนภาคลงทุนภาคเอกชนในปี 58 ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมและความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ สศค.คาดว่าการลงทุนภาคเอกชน ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 8.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ7.0 - 9.0) ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57
3. ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 57 เกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น รายงาน ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน พ.ย. 57 เกินดุล 433.0 พันล้านเยน แม้ว่าจะลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุลมากถึง 833.4 พันล้านเยน แต่นับเป็นการเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แล้ว ทั้งนี้ เป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงทำให้ดุลการค้าทั้งสินค้าและบริการที่ขาดดุลลดลงอยู่ที่ -743.0 พันล้านเยน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขาดดุล -983.1 พันล้านเยน ประกอบกับดุลเงินโอนที่เกินดุลมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า 1) ด้านดุลการค้าสินค้า การประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในวันที่ 31 ต.ค. 57 ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก โดย ณ ปลายเดือน พ.ย. 57 อ่อนค่าลงจากต้นปี 57 ถึงร้อยละ 12.7 และ ณ สิ้นปี 57 อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 13.7 และยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ส่งผลให้การส่งออกของญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ล่าสุด มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ +4.9 แม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนแต่นับว่ายังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนเดียวกันหดตัวร้อยละ -1.6 กลับมาหดตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ +3.1 ส่งผลทำให้ดุลการค้าขาดดุลลดลง 2) ส่วนดุลบริการที่ขยายตัวมาจาก 2 แหล่งคือ เงินโอนจากบริษัทลูกในต่างประเทศที่ส่งกลับประเทศเป็นค่าทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบริษัทแม่ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเข้าไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก ล่าสุดในเดือน พ.ย. 57 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมากถึง 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 3) ดุลเงินโอนที่เกินดุลมากขึ้นจากรายได้ปฐมภูมิซึ่งเป็นรายได้ที่บริษัทลูกในต่างประเทศส่งกลับประเทศที่เพิ่มขึ้นที่ราว 1.3 พันล้านเยน ขยายตัวร้อยละ +44.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ