Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 มกราคม 2558
Summary:
1. อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
2. เศรษฐกิจอียูเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังเงินเฟ้อติดลบ
3.ยอดแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ร่วงแรงเป็นประวัติการณ์
1.อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยจำนวนผู้ว่างงานในเดือน ธ.ค. 57 ว่ามี 2.2 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.6 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม โดยในจำนวนผู้ว่างงานล่าสุด แบ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 8.7 หมื่นคน และมีผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.33 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและการค้า 6.1 หมื่นคน ภาคการผลิตและภาคการเกษตร 5.1 และ 2.1 หมื่นคน ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่อัตราว่างงานในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ส่งผลให้อัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 57 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 3.23 แสนคนเท่านั้น นอกจากนี้หากพิจารณาระดับราคาสินค้าทั่วไปภายในประเทศ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในปี 57 ที่อยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ร้อยละ 1.9 จากปี 56 ซึ่งบ่งชี้ว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดีในระยะต่อไป คาดว่าจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้มีการเร่งผลิตสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของ ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแรงงานตึงตัวได้ ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชน ควรมีการร่วมมือ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานให้มากขึ้น
2. เศรษฐกิจอียูเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังเงินเฟ้อติดลบ
- ยูโรสแตท รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปในเดือน ธ.ค. 57 ติดลบร้อยละ 0.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับจากปี 40 เป็นสัญญาณชัดเจนว่า เศรษฐกิจของอียูเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยภาวะดังกล่าวค่อยๆเกิดขึ้น ตั้งแต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่ผ่านมา และนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนถึงขณะนี้ ราคาน้ำมันปรับตัวลงกว่าร้อยละ 55 แล้ว
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่เศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวต่อเนื่องโดย GDP ไตรมาส 3/ 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส และการหดตัวของเศรษฐกิจอิตาลี โดยถึงแม้ว่า ECB จะประกาศนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมโดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยการปล่อยกู้และการซื้อ Covered Bond แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากธนาคารพาณิชย์มากเท่าที่ควร อีกทั้งยังขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม กอปรกับราคาน้ำมัน ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในแดนลบ นอกจากนี้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของรัสเซียจากกรณีความขัดแย้งกับยูเครน ยังส่งผลกระทบต่อภาวะถดถอยดังกล่าวอีกด้วย
3. ยอดแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ร่วงแรงเป็นประวัติการณ์
- จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงทั้งสิ้น 55 แท่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการลดลงรวม 209 แท่น นับตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 57 ซึ่งถือเป็นการลดลงในรอบ 6 สัปดาห์ที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในเดือน ก.ค. ปี 30 ทำให้ยอดแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ เหลือจำนวนทั้งสิ้น 1,366 แท่น การลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะดังกล่าว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวดีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.44 เหรียญสหรัฐ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา มาปิดที่ระดับ 48.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน ก.พ. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐในวันศุกร์ที่ผ่านมา มาปิดที่ระดับ 50.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่ตกต่ำเริ่มส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในสหรัฐฯ สะท้อนจาก แท่นขุดเจาะที่ลดจำนวนลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับจำนวนโครงการและสัญญาการขุดเจาะที่มีการยกเลิกและตัดงบประมาณในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี ยอดการผลิตและส่งออกจากหลายแหล่งยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในสหรัฐฯ ที่เพิ่มการผลิต 6 หมื่นบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์แรกของปีทำให้ยอดการผลิตเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 9.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นสัปดาห์ที่สหรัฐฯ ผลิตได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 26 ด้านอิรักยังคงเพิ่มการผลิตมากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่ตกต่ำในระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรลอาจส่งผลกระทบเพียงการเริ่มโครงการใหม่เท่านั้น สำหรับโครงการที่มีการลงทุนและขุดเจาะไปแล้ว การเพิ่ม การผลิตต่อเนื่องสะท้อนว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อหน่วยยังสามารถทำกำไรได้ในระดับราคาปัจจุบัน ซึ่งนั่นจะทำให้ราคายังคงถูกกดดันไว้อย่างน้อยในระยะสั้นถึงกลางหากไม่มีปัจจัยใหม่มากระทบ ทั้งนี้ สศค. ยังคงประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีไว้ที่ 65.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257