รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2015 13:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มกราคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ธ.ค. 57 อยู่ที่ 92.7 สูงสุดรอบ 14 เดือน

2. ส.อ.ท. เผยส่งออกรถยนต์ ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.35 ต่อปี

3. เยอรมนีมั่นใจสวิสลอยฟรังก์ไม่กระทบยูโร

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ธ.ค. 57 อยู่ที่ 92.7 สูงสุดรอบ 14 เดือน
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 92.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7 เทียบกับเดือน พ.ย. 57 สูงสุดในรอบ 14 เดือน โดยค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 57 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และมีค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 56 สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนี ได้แก่ 1) ยอดขายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า 2) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดแรงกดดันด้านราคาและเพิ่มกำลังซื้อ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลจากกำลังซื้อภายในประเทศภาพรวมที่ยังคงหดตัว เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว และยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากไทย อย่างไรก็ดี ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในปี 2558 - 2565 จะช่วยทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 58 ดีขึ้น
2.ส.อ.ท. เผยส่งออกรถยนต์ ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.35 ต่อปี
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ธ.ค.57 มียอดส่งออก 89,146 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.35 ต่อปี ส่งผลให้ในปี 57 จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในปี 57 มีทั้งสิ้น 1.88 ล้านคัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.1 ล้านคัน หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 23.5 จากปี 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่การผลิตรถยนต์ปี 57 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 56 เนื่องจากตลาดส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เช่น เศรษฐกิจออสเตรเลียและเอเชียที่ชะลอตัว ขณะที่ญี่ปุ่นค่าเงินเยนอ่อนค่ามาก จึงนำเข้ารถยนต์จากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า แนวโน้มการส่งออกรถยนต์ในปี 58 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้ประเทศอาเซียนใหม่ (CLMV) ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จะต้องลดภาษีรถยนต์เป็น 0% ตามกรอบ AEC ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ยอดการส่งออกผ่านชายแดนเพิ่มขึ้น สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศ คาดว่าจะกลับมาขยายตัว ในช่วงไตรมาส 2 ปี 58 เนื่องจากมีการจัดงานมอร์เตอร์โชว์ช่วงเดือน มี.ค-เม.ย. 58 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลกับยอดขายรถยนต์ในประเทศ คือ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่ ภาครัฐอาจมีความเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่าคนไทยมียอดหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 57 ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 84.7 ของ GDP ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 57 ว่า การบริโภคในประเทศของปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.6-4.6) ทั้งนี้ จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 29 ม.ค. 58
3. เยอรมนีมั่นใจสวิสลอยฟรังก์ไม่กระทบยูโร
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี กล่าวว่า การตัดสินใจที่สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก โดยการประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินสวิสฟรังก์กับยูโร ของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (เอสเอ็นบี) ในสัปดาห์ที่แล้ว จะไม่ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อค่าเงินยูโร ซึ่งสวนทางกับภาคเอกชนในสวิตเซอร์แลนด์ ที่เห็นว่า นโยบายของธนาคารกลางสวิสถือเป็นการกระทำที่รุนแรงเหมือนคลื่นยักษ์สึนามิ สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกและการท่องเที่ยว และสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภายหลังจากการประกาศยกเลิกการตรึงราคาค่าเงินสวิสฟรังก์กับยูโรและปล่อยค่าเงินลอยตัว ทำให้ค่าเงินสวิตสฟรังก์แข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 24.7 จากเดิมอยู่ที่ 1.2008 มาอยู่ที่ 0.9038 สวิสฟรังก์ต่อยูโร ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าสุงสุด ทั้งนี้ จากการลอยตัวค่าเงินสวิสฟรังก์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม การลอยตัวค่าเงินสวิสฟรังก์ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงตัดสินใจขยายขนาดและเพิ่มประเภททรัพย์สินในการทำมาตรการ QE ในการประชุมในวันที่ 22 ม.ค. 58 สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยพบว่า เศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ไม่มากนัก โดยในปี 56 มีสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 0.6 ต่อปี ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยสินค้าส่งออกและนำเข้าสำคัญคือทองคำและมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวสวิสเซอร์แลนด์เพียงร้อยละ 1.2 ต่อปีเมื่อเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวรวม

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ