Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มกราคม 2558
1. สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 เติบโตร้อยละ 6.0
2. ผู้บริหารเมืองเสินเจิ้นประชุมหาผู้ร่วมลงทุนหลังบริษัทอสังหาฯ ผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้
3. ธนาคารกลางยุโรปขยายขนาด QE เป็นเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่ มี.ค.58 - ก.ย.59
- นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย เปิดเผยว่า ธนาคารฯยังคงคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยปี 58 นี้ว่าอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.0 จากการเมืองที่มีเสถียรภาพ การลงทุนที่ทำได้ตามแผน และผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการบริโภคและต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง โดยคาดว่าจะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 57 จากสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกทางเศรษฐกิจที่ช่วยส่งเสริมการเติบโต ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อการส่งออก โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 56 (2) การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มมีเม็ดเงินลงภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้นในปีนี้ และ(3) สถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายที่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน บ่งชี้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ในระดับ 70.5 และ 92.7 จุด ตามลำดับ สูงสุดในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผนวกกับแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำอาจทำให้การจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเกษตรกรมีแนวโน้มที่ลดลงตามรายได้ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป
- ผู้บริหารเมืองเสินเจิ้น ในมณฑลกวางตุ้ง จัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จีนหลายราย เพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในกลุ่มบริษัท Kaisa ซึ่งประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เมืองเสินเจิ้น และผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยแก่นักลงทุนเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 58 ในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ขายแก่นักลงทุนต่างชาติมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 63
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเริ่มผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นสัญญาณอันตรายสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีนที่ชัดเจนขึ้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา สะท้อนจากราคาบ้านใหม่ที่หดตัวลงต่อเนื่องมากว่า 4 เดือน โดยล่าสุด เดือน ธ.ค. 57 ราคาบ้านใหม่หดตัวกว่าร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังของทางการจีน ส่งผลให้มีการสั่งระงับชั่วคราวในหลายโครงการที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งกลุ่มบริษัท Kaisa เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหลายรายที่ถูกเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่น จนเป็นเหตุให้ผู้บริหารต้องลาออก มีการอายัดบัญชีธนาคารหลายบัญชี ด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจึงนำไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และการผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร จนเป็นเหตุให้ต้องสรรหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าว
- เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 58 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขยายขนาด QE โดยจะเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ มี.ค. 58 - ก.ย. 59 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
- สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศมาตรการ QE เพิ่มเติม เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่า ECB จะทำทุกวิถีทางในการทำให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวและไม่ตกอยู่ในภาวะเงินฝืด หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในยูโรโซนเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปเพิ่มเติมจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของยุโรปในระยะยาว และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ประมาณสภาพคล่องที่มีเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกความผันผวนมากขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลาง รวมถึงมีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและราคาสินทรัพย์ทางการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังเห็นได้จากในช่วงสัปดาห์ก่อน (15 - 21 ม.ค. 58) ที่นักลงทุนคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการ QE เพิ่มเติม ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงถึงร้อยละ 1.76 อีกทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยุโรป (Stoxx Euro Index) ที่ปรับขึ้นร้อยละ 5.4 ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลบวกจากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นร้อยละ 0.40 ทั้งนี้ เมื่อตลาดปิดในวันที่ 22 ม.ค. 58 ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงร้อยละ 2.1
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257