รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5 - 9 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2015 11:11 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 57 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย. 57 เกินดุล 1,664.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน พ.ย. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6
  • การส่งออกเดือนพ.ย. 57 หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.7
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 70.5
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 92.6 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 55.5 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC) ของจีนเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 49.6 จุด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค 57 อยู่ที่ 52.0 จุด

Indicator next week

Indicators              Forecast   Previous
Dec: API (%yoy)           23.8      -13.9
  • จากปัจจัยฐานต่ำในปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ในส่วนของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์คาดว่าจะขยายตัวดีเช่นกัน จากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ และไข่ไก่
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 57 หดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เนื่องจากมีการปิดเพื่อซ่อมบำรุงโรงกลั่นของบริษัท Thai Oil สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีฯ ในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ เครื่องแต่งกาย และเคมีภัณฑ์
  • การส่งออกในเดือน พ.ย. 57 มีมูลค่า 18,567.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเป็นบวก จากการหดตัวและชะลอตัวของสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -15.0 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -33.9 ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ ร้อยละ -1.1 และปริมาณสินค้าส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.1
  • การนำเข้าในเดือน พ.ย. 57 มีมูลค่า 18,645.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวร้อยละ -10.0 และ -15.7 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าวัตถุดิบขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.1 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 1.7
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ และไข่และผลิตภัณฑ์นมลดลงจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าดังกล่าวค่อนข้างทรงตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 และ 1.6 ตามลำดับ
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก เดือนก่อนร้อยละ -0.8 ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวร้อยละ -1.6 จากเดือนก่อน ขณะที่หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาหดตัวร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4/57 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของทั้งปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดัชนีราคาที่สูงขึ้นเป็นผลจากต้นทุนด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติสูงขึ้น ทำให้ภาพรวมดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2557 จึงปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ย. 57 เกินดุล 1,664.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,628.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,913.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการส่งออกที่ลดลงมากกว่าการนำเข้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมาก กอปรกับอุปสงค์ที่ชะลอลงจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และยุโรป ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอน กลับมาขาดดุล 249.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายจ่ายกำไรและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น
  • สินเชื่อเดือน พ.ย. 57 ขยายชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยชะลอลงทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบริโภค อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สินเชื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อบริโภคชะลอลงต่อเนื่องตามการบริโภคที่ลดลง
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 57 ขยายชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการชะลอของเงินฝากเป็นผลจากการชะลงลงในฝั่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นหลัก
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ธ.ค. 57 มีจำนวน 129,869 คัน หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.0 ตามการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาคที่หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล อย่างไรก็ดีจากการที่ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ยังหดตัวต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังหดตัวอยู่ ในขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม. ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.6 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.4 ทั้งนี้ ในปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -14.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 70.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 68.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1. ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเม็ดเงินที่สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงโครงการลงทุนซ่อมสร้างต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแต่ละท้องถิ่น และ 2. ราคาน้ำมันภายในประเทศปรับตัวลดลง ทำให้ราคาต้นทุนสินค้าปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจาก 1. ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่เต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ค่อยกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากนัก และ 2. ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในชนบทยังคงชะลอตัวต่อไป
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 57 คาดว่าจะขยายตัวได้จากปีก่อนร้อยละ 23.8 จากปัจจัยฐานต่ำในปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ในส่วนของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์คาดว่าจะขยายตัวดีเช่นกัน จากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ และไข่ไก่

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.6 จุด จากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจปัจจุบันและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 55.5 จุด ลดลงจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ทั้งในประเทศและส่งออก ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ 56.2 จุด จากดัชนีย่อยทุกประเภทที่ลดลง ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 13.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.4 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุกที่ลดลง ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ด้านขนส่งและเครื่องจักรที่หดตัว ดุลการค้า พ.ย. 57 ขาดดุล 54.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC) เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 49.6 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดอีกครั้งในรอบ 7 เดือน สอดคล้องกับดัชนีฯ (NBS)ซึ่งลดมาอยู่ที่ 50.1 จุด ด้านดัชนีฯ ภาคบริการ (HSBC) เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 53.4 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 53.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาคบริการที่ยังแข็งแกร่งที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้ ในขณะทีภาคอุตสา- -หกรรมยังคงซบเซา สอดคล้องกับดัชนีฯ (NBS) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.1 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค 57 อยู่ที่ 52.0 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯ ดังกล่าวยังคงอยู่เกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

Eurozone: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร และเชื้อเพลิงรถยนต์ อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 57 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวมอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากราคาพลังงานเป็นหลัก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ธ.ค 57 อยู่ที่ 51.4 จุด โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 50.6 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 51.6 จุด

United Kingdom: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 52.5 จุด ลดจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 55.8 จุด และเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 58 ธนาคารกลางสหราชอาณาจักรมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

India: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 54.5 จุด สูงสุดในรอบ 2 ปี จากบรรยากาศทางธุรกิจ ผลผลิต ราคา และคำสั่งซื้อจากในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 51.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อน แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 57

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล)จากภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว ทำให้ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 49.6 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคามันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1.1 หมื่นล้านริงกิต

Phillipines: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนจากราคาอาหารและค่าที่อยู่อาศัยที่ลดลง

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 47.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อใหม่สินค้าส่งออกที่ลดลงมาอยู่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 8 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 116.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ลดลง ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายทุกประเภทที่ลดลง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หดตัวถึงร้อยละ -23.1 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าทุกประเภทที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าคมนาคมขนส่งและราคาอาหาร มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -14.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี 3 เดือน จากการส่งออกก๊าซที่หดตัวสูงสุดในรอบ 1 ปี มูลค่านำเข้าหดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -7.3 จากการนำเข้าก๊าซที่ลดลง ทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามในปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 52.7 จุด สูงสุดในรอบ 9 เดือน

South Korea: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 49.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด โดยคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในขณะที่คำสั่งซื้อใหม่เพื่อส่งออกยังคงหดตัว ด้านมูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่านำเข้าหดตัวชะลอลงร้อยละ -0.9 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 50.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเหนือระดับ 50.0 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้มีการประท้วงในช่วงดังกล่าว

Australia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากยอดขายทุกประเภทที่ลดลง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 46.9 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และราคาขายที่ลดลงมาก บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรม ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 47.5 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังคงต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด บ่งชี้การหดตัวในภาคบริการ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่ลดลงมากในช่วงสิ้นปี โดย ณ วันที่ 8 ม.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,521.62 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 44,849 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ ทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกันตลาดในภูมิภาค และผลจาก ECB ส่งสัญญาณว่าจะดำเนินมาตรการ QE ทำให้ตลาดคาดว่าจะเริ่มดำเนินการใช้ไตรมาสที่ 1 ปี 58 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 5-8 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 7,253.7 ล้านบาท
  • ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงมากทุกช่วงอายุ ประมาณ 3 -31 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ จากคำแถลงของ ECB ดังกล่าว กอปรกับมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล Benchmark อายุ 30 ปี และพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ที่ได้รับความนิยม 1.89 2.39 3.56 และ 2.57 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 5-8 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,258.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 8 ม.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.24 จากสัปดาห์ก่อน สวนทางกับค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.95 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 8 ม.ค. 58 ปิดที่ 1,211.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,196.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ