รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 - 16 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 19, 2015 11:19 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 57 เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.57 ล้านล้านบาท
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,626.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.1 ของ GDP
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกของปี 57 ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 57 ลดลงมา อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 6.5 ปี
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร เดือน ธ.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน ธ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators         Forecast   Previous
Dec: TISI (%yoy)      90.5      89.7
  • จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับ ยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอาจมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่
Economic Indicators: This Week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ย. 57 เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นตามการเร่งระดมเงินฝากเพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับรองรับการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเงินรับฝากในเดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากการระดมทุนเพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับรองรับความต้องการสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,626.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.1 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 14.2 พันล้านบาทโดยหนี้ของรัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ ลดลง 4.3 พันล้านบาท 5.8 พันล้านบาท 2.6 พันล้านบาท และ 1.5 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.6 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.7 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกของปี 57 โดยขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาลอย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมในปี 57 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ หดตัวที่ร้อยละ -3.2 สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุน ในหมวดการก่อสร้างยังคงซบเซา ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากมีการเร่งซื้อขายไปแล้วในปีก่อนหน้า
  • การจ้างงานเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นคน หรือคิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคบริการ จากสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาด้านการศึกษาและสาขาก่อสร้าง ในขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงลดลงในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลงถึง 6.9 แสนคน ส่งผลให้การจ้างงานในปี 57 ยังคงหดตัวเล็กน้อย อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในเดือนธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.20 แสนคน โดยอัตราการว่างงานทั้งปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 คิดเป็นจำนวนคนว่างงาน 2.23 แสนคน
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90.5 ปรับตัวดีขึ้นจาก เดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.7เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอาจมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 252,000 ตำแหน่ง จากการจ้างงานภาคบริการทางธุรกิจ ก่อสร้าง บริการสุขภาพ และการศึกษาที่เพิ่มขึ้นมากทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 6.5 ปี โดยที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลงมาที่ร้อยละ 62.7 ของวัยแรงงาน ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการขยายตัวเร่งขึ้นของยอดขายรถยนต์และอาหารเครื่องดื่ม (สัดส่วนร้อยละ 21.6 และ 14.3 ของยอดค้าปลีกรวม ตามลำดับ) ที่ขยายตัวเร่งขึ้น

China: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในเดือนก่อน ทำให้ทั้งปี 57 มูลค่าการส่งออกของจีนขยายตัวร้อยละ 6.9 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.8 ในปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -6.7 ในเดือนก่อน ทำให้ทั้งปี 57 มูลค่าการนำเข้าของจีนขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากร้อยละ 7.3 ในปีก่อน และดุลการค้า เดือน ธ.ค. 57 ขาดดุลลดลงที่ 5.0 หมื่นล้าน

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าขั้นกลาง พลังงาน และสินค้าทุนที่หดตัวลง

UK: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในหมวดอาหารที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่ม และค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดขายสินค้าในเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ยกเว้นหมวดห้างสรรพสินค้า เครื่องจักร เครื่องประดับและอัญมณีที่ยังคงขยายตัวได้ดี มูลค่าการส่งออกเดือน ธ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุน และกลุ่มประเทศในเอเชียที่หดตัว ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 58 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี

India: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าในหมวดการผลิต (สัดส่วนร้อยละ 75 ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวม) ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.0 และผลผลิตสินค้าจำเป็นและสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.0 และ 6.5 ตามลำดับ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 58 ธนาคารกลางอินเดียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปีมาอยู่ที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี โดยเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 1 ปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระทางการคลัง ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศด้านราคามากนัก โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

Indonesia: mixed signal

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 58 ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ ร้อยละ 7.75 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

Australia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในเดือนก่อน โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้น 37,400 ตำแหน่ง โดยเป็นการจ้างงานแบบเต็มเวลาที่เพิ่มขึ้นถึง 41,600 ตำแหน่ง แม้ว่าสัดส่วนผู้มีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 65.2 ของวัยแรงงาน จากร้อยละ 64.5 ในเดือนก่อนก็ตาม

Philippines: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากผลผลิตเครื่องดื่มที่ขยายตัวเร่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 49.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนมาก จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน (สัดส่วนร้อยละ 21.3 14.7 และ 12.4 ของมูลค่าส่งออกรวมปี 56) ที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 5.5 16.5 และ 25.1 ตามลำดับ

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวเกินดุล 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย และปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 15 ม.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,523.38 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อวันที่ 43,664 ล้านบาท จาก แรงขายของนักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากปัจจัย World Bank ประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 58 ลงจากร้อยละ 3.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 และราคาน้ำมันตกต่ำกดดันหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งมีปัจจัยค่อนข้างมากในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12 - 15 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 7,555.35 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1-6 bps จากปัจจัย World Bank ปรับลดคาดการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ การประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือนและ 6 เดือน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 1.86 1.96 และ 2.22 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12 - 15 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 5,797.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 15 ม.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.36 จากสัปดาห์ก่อน โดยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นยูโรที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.47 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 15 ม.ค. 58 ปิดที่ 1,247.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,224.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ