รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 และ 2558 “เศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2558”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2015 16:14 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมกราคม 2558 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มหดตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงปลายปี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ดีขึ้น การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ลดลงตามราคาพลังงาน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศเป็นสำคัญ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2558 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 – 4.4) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตาม ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 – 1.4) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง เนื่องจากอุปทานที่มากกว่าอุปสงค์ในตลาดโลก”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร”

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 และ 2558

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2557

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า และลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 1.4 โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -0.6 โดยการส่งออกสินค้ายังคงมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่ล่าช้า ขณะที่การส่งออกบริการยังได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2557 หดตัวลง นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังค่อนข้างต่ำ อันเป็นผลจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 3.7 และการลงทุนภาครัฐจะหดตัวร้อยละ -4.7 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปี โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น การจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อาทิ การเร่งชำระหนี้ให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และมาตรการแก้ไขปัญหายางพารา อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็ยค่อยไป เนื่องจากมีข้อจำกัดจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพารา นอกจากนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งยังเร่งซื้อสินค้าคงทนไปแล้วในช่วงก่อนหน้าตามนโยบายรถยนต์คันแรก สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.1 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคเอกชนยังคงรอดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจบางส่วนยังคงรอความชัดเจนของนโยบายการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุน อาทิ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับที่สนุบสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ลดลงตามราคาพลังงาน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -4.4 ลดลงตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลงและการขยายตัวของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาพลังงานของภาครัฐ ในส่วนของอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 25.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ร้อยละ -8.6 ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 13.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 3.3 ของ GDP

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2558

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 – 4.4) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ อุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 – 3.6) ตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจะยังคงเอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยจะขยายตัวร้อยละ 7.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.2 – 8.2) จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.9 – 4.9) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.3 –17.3) จากการประกาศใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2558 ที่สามารถทำได้ตามปกติ และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2558 โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง เม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้นคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวร้อยละ 5.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.4 – 6.4) ฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่า การส่งออกบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.9 – 8.9) สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

2.2 เสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 – 1.4) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันยังคงชะลอตัวจากการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ในส่วนของอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 – 0.9 ของกำลังแรงงานรวม) สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 2.0 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ1.8 ถึง 2.2 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 20.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 11.8 – 28.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3273

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ