Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558
Summary:
1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.41
2. ส.อ.ท.ห่วงแรงงานขาดแคลนหนัก หลังยอดขอลงทุนบีโอไอปี 57 ทำสถิติสูงสุด
3. ยอดแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ร่วงแรงเป็นประวัติการณ์
1.พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.41
- นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน ม.ค.58 ดัชนีอยู่ที่ 106.02 ลดลงร้อยละ - 0.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการปรับตัวลดลงในรอบตั้งแต่เดือน ก.ย.52 ที่ติดลบร้อยละ -1.0 จากราคาพลังงานและอาหารสดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธุ์ ยังกล่าวว่า ภาวะตอนนี้ยังไม่มีช่วงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงไม่ได้เป็นเพราะการลดการบริโภค แต่เป็นเพราะจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.58 อยู่ที่ร้อยละ -0.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 63 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 52 ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง และการปรับลดลงของอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) และ 3) เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสด เช่น ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้ และผักสดบางชนิด (โดยเฉพาะ ผักคะน้า ผักชี ผักกาดหอม ต้นหอม ขิง ผักกาดขาว ขึ้นฉ่าย หัวผักกาดขาว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ฟักเขียว ฟักทอง) มีปริมาณสู่ท้องตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาในหมวดดังกล่าวปรับลดลง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 - 1.4 ลดลงจากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
2. ส.อ.ท.ห่วงแรงงานขาดแคลนหนัก หลังยอดขอลงทุนบีโอไอปี 57 ทำสถิติสูงสุด
- นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน กล่าวว่านักลงทุนขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 57 ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งทำสถิติสูงสุด และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 7 แสนล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มกว่า 1 แสนคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง สอดคล้องกับข้อมูลมูลค่าการขอส่งเสริมจาก ส.อ.ท. ในปี 57 พบว่ามีจำนวนสูงถึง 2.2 ล้านบาท กอปรกับข้อมูลอัตราการว่างงานเฉลี่ยในปี 57 อยู่ที่ ร้อยละ 0.8 เท่านั้น อีกทั้งปัจจัยการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวกลับสู่ประเทศ หลังจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการจ้างงาน พบว่า การจ้างงานในภาคเกษตรมีจำนวน 12.7 ล้านคน จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 33.3 ซึ่งภาคเกษตรเป็นสาขาที่ค่าแรงถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ดังนั้นหากมีการนำเครื่องจักรมาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้น และโยกย้ายแรงงานออกมาสู่นอกภาคเกษตรมากขึ้น จะทำให้สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานดีขึ้นได้ และยังก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
3. ยอดแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ร่วงแรงเป็นประวัติการณ์
- จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงอีก 94 แท่นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการลดลง ในรอบสัปดาห์ที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ยอดรวมของแท่นขุดเจาะของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1,223 แท่น ส่งผลให้ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก (NYMEX) ปิด ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาที่ระดับ 48.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.7 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 8.3 อย่างไรก็ดี ทิศทางราคาน้ำมันในภาพรวม ณ สิ้นเดือน มค. 58 ยังคงอยู่ในขาลง โดยราคา ในเดือน ม.ค. เปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ -9.4 ซึ่งนับเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผู้ผลิตในสหรัฐฯ บางส่วนยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ส่งผลให้มีการลดกำลังการผลิตดังที่สะท้อนออกมาผ่านข้อมูลจำนวนแท่นขุดเจาะ นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางส่วนยังมีการลดกำลังแรงงานและจำนวนเงินลงทุนในปีนี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ EIA กำลังการผลิต ในสัปดาห์ที่สามของเดือน ม.ค. 58 ของสหรัฐอยู่ที่ 9.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดในรอบ 32 ปี ทั้งนี้ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่ากำลังการผลิตในสัปดาห์สุดท้ายจะมีการปรับลดลงหรือไม่ จากจำนวนแท่นขุดเจาะที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อราคาในระยะสั้นหลังจากที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นจากข้อมูลการลดลงของแท่นขุดเจาะ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี 58 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าราคาจะยังอยู่ ในระดับต่ำในช่วงครึ่งปีแรกและจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257