รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 9, 2015 11:44 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.8
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 69.7
  • อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,624.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.8 ของ GDP
  • สินเชื่อเดือน ธ.ค. 57 ยังคงขยายตัวอย่างชะลอลงอยู่ที่ ร้อยละ 4.5
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. 58 มีจำนวน 152,475 คัน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 14.5
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัว ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP อินโดนีเซีย ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.6 ในขณะที่ อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 11.4
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีน (NBS) เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด

Indicator next week

Indicators               Forecast   Previous
Jan: cement sales (%yoy)    0.4       0.2
  • ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และผักผลไม้ ที่มีการปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเกิดจากปัจจัยด้านต้นทุนอุปทานเป็นสำคัญ จึงยังไม่ถือว่าเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปสงค์ยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ที่ร้อยละ 1.6
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก เดือนก่อนร้อยละ -1.2 (mom _sa) ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดซีเมนต์ที่หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัว ร้อยละ -8.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงจากราคาน้ำมัน และราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงลดลง
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 69.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ระดับ 70.5 เป็นผลมาจากประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ราคายางพารา และราคาข้าว เริ่มส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่น ในขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาคึกคักเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะมีส่วนช่วย ในการพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง จากการที่ทำให้ต้นทุนประกอบการปรับลดลง แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่ราคาก๊าซ NGV และก๊าซ LPG จะปรับขึ้นราคาได้อีก
  • การจ้างงานเดือน ม.ค. 5 อยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลง 4.3 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาคบริการจากสาขาการขายส่งและการขายปลีกและภาคการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ในขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,624.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 2.1 พันล้านบาทโดยหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ลดลง 4.1 พันล้านบาท ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาล ค้ำประกัน) ลดลง 2.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 97.1 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.8 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • สินเชื่อเดือน ธ.ค. 57 ยังคงขยายตัวอย่างชะลอลง อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยชะลอลงทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบริโภค อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สินเชื่อธุรกิจขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อบริโภคชะลอลงต่อเนื่องตามการบริโภคที่ลดลง
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัว เร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการขยายตัวมาจากการเร่งระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อเตรียม สภาพคล่องเพื่อรองรับสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงขยายตัวอย่างชะลอลง
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ม.ค. 58 มีจำนวน 152,475 คัน หรือคิดเป็นการขยายตัว ที่ร้อยละ 14.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.3 ตามการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯเป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 199.0 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.6 เป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพฯ อย่างไร ก็ดี รายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคหดตัวร้อยละ -2.2 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.8
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ไตรมาส โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ยอดขายรถยนต์ เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากยอดขายรถยนต์นั่งที่ชะลอลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ปรับลดลงมาที่ระดับ 53.5 จุดจากดัชนีคำสั่งซื้อค้างรับและการจัดส่งวัตถุดิบปรับลดลง ดัชนีฯ นอกภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 56.7 จุด จากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจและการจัดส่งวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น

Eurozone: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.6 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นผลจากการลดลงของราคาพลังงาน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 11.4 ต่ำสุดตั้งแต่ ส.ค. 55 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ม.ค. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ 52.6 จุด สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศในสัปดาห์ก่อน โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ ภาคบริการเป็นหลัก ดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.0 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 52.7 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อเพลิงรถยนต์และอาหาร

China: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ต่ำที่สุดในรอบ 28 เดือนสอดคล้องกับดัชนีฯ (HSBC) ที่ระดับ 49.7 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 2 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (NBS) เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด ลดลงสอดคล้องกับดัชนีฯ (HSBC) ที่ระดับ51.8 จุด

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 (2) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 52.2 จุด จากระดับ 52.0 จุดในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง เป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน สะท้อนกิจกรรมการผลิตในญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ดี

Vietnam: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 33.8 ทำให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 58 ขาดดุล 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ชะลอลงที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ลดลงจาก 52.7 จุดในเดือนก่อน

United Kingdom: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 53.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 57.2 จุด ขยายตัวได้ดีทั้งในภาพรวมและการขยายกิจการใหม่

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.0 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด กลับมาสูงกว่า 50.0 จุดอีกครั้ง

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่อัตราเงินเฟ้อเป็นลบ

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ลดลงที่ระดับ 49.9 จุด

Australia: mixed signal

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 58 ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ดุลการค้าเดือน ธ.ค. 57 เกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากยอดขายเครื่องนุ่งห่มที่กลับมาขยายตัว

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ผลจากการลงทุนที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 57 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 120.2 จุด จากคาดการณ์รายได้และสภาพเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากราคาอาหารและค่าคมนาคมขนส่งที่ปรับลดลง มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนมูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -6.6 จากการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวลดลง ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลที่ 1.9 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี แต่ยังคงบ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรม

India: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 53.3 เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมภาคธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1,600 จุด โดย ณ วันที่ 5 ก.พ. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,607.92 จุด สูงสุดในรอบ 1 ปี 8 เดือน ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 53,339 ล้านบาท เป็นไปตามทิศทางของตลาดในภูมิภาค จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกทั้งน้ำมันดิบ Brent WTI และ Dubai ที่กลับมาอยู่เหนือระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเลียมปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับลดอัตรากันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ของธนาคารกลางจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์ของกรีซ ภายหลังที่ ECB ประกาศยกเลิกการยอมรับตราสารหนี้กรีซมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม โดยจะมีผลในวันที่ 11 ก.พ. 58 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 5 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 4,253.31 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ 1-4 bps จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะมีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน 6 เดือน และ 11 เดือน และพันธบัตรรัฐบาลประเภททยอยชำระคืนเงินต้นปี งปม. 58 ครั้งที่ 2 อายุ 23 ปี ที่ได้รับความสนใจถึง 1.10 2.18 4.05 และ 1.65 เท่าของยอดการประมูลก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 5 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 8,086.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 5 ก.พ. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.16 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางของค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นหยวนที่อ่อนค่าขึ้นลง จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.32 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 5 ก.พ. 58 ปิดที่ 1,261.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,273.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ