รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 9, 2015 11:35 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 57 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 270.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -14.6
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค.57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -83.6 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน ธ.ค. 57 มีมูลค่า 18,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.9 ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 17,201.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.7
  • วันที่ 28 ม.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 17.2
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวใน อัตราชะลอลงที่ร้อยละ -0.4
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ธ.ค. 57 เกินดุล 5,552.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาส 4 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัว ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.6
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาส 4 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • FOMC (27-28 ม.ค. 58) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 0.00-0.25 ต่อปี

Indicator next week

Indicators              Forecast     Previous
Jan: Inflation (%yoy)     -0.4         0.6
  • จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวลดลงถึงห้าครั้งในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์
Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนธ.ค. 57 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 270.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -14.6 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 240.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -15.2 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 223.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 17.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -83.8 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 47.3 พันล้านบาท รายจ่าย ชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 31.9 พันล้านบาท และรายจ่าย เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 12.9 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 29.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.8 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 58 ในช่วงไตรมาสแรกเบิกจ่ายได้ 766.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 29.8 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค.57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -83.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 14.6 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -69.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชย การขาดดุล 5.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ชดเชย การขาดดุล ขาดดุลเท่ากับ -63.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 ดุลการคลังรัฐบาลขาดดุลจำนวน -344.6 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน ธ.ค. 57 มีมูลค่า 18,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว จากการขยายตัวดีเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ตามการขยายตัวดีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 13.5 ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรมและยานยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.5 และ -1.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.5 และปริมาณส่งออกสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ส่งผลให้ในปี 57 การส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4
  • การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 57 มีมูลค่า 17,201.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการหดตัว เกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -4.9 และสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -37.3 ในขณะที่สินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 และ 17.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.4 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.5 ส่งผลให้ การนำเข้าในปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -9.0 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าในปี 57 ขาดดุล -0.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 57 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ทั้งปี 57 ยอดจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเลียม เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เนื่องจากมีการส่งออกที่ลดลง สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่อดัชนีฯ ในเดือนนี้ คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ เครื่องแต่งกาย และอาหาร
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ธ.ค. 57 เกินดุล 5,552.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,664.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3,640.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอน กลับมาเกินดุล 1,882.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายรับด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกบริการอื่นๆที่เพิ่มขึ้น กอปรกับเงินโอนกลับของบริษัทต่างชาติในไทยที่ลดลง
  • วันที่ 28 ม.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปีจากการที่ กนง. ประเมินว่านโยบายการเงินยังผ่อนปรนเพียงพอต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในปี 2558 และสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 58 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -0.4 โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวลดลงถึงห้าครั้งในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

FOMC (27-28 ม.ค. 58) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.00-0.25 ต่อปี เพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานและเสถียรภาพด้านราคาต่อไป ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ด้านการขนส่งที่หดตัวลดลง และคำสั่งซื้อเครื่องจักรที่กลับมาขยายตัว ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 412,000 หลัง จากยอดขายบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 209,500 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาบ้านเดี่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้นด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 481,000 หลัง หรือขยายตัวร้อยละ 11.6 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายบ้านใหม่ในภาคใต้และตะวันออกเฉียงเหนือที่ปรับเพิ่มขึ้น ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) ลดลงจากเดือนก่อนจากราคาบ้านภาคใต้ที่ปรับตัวลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 102.90 จุด สูงสุดในรอบ 7 ปี 5 เดือน จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและสถานการณ์ตลาดแรงงานที่ดีขึ้น

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ม.ค. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ 52.2 จุด สูงสุดในรอบ 5 เดือน เพิ่มขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการตามยอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.1 จุด ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 52.3 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 (ปรับปรุง) อยู่ที่ -8.5 จุด สูงสุดในรอบ 6 เดือน ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจใน 12 เดือนข้างหน้า บ่งชี้ความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนที่เริ่มคลี่คลาย

Japan: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ จีน สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียที่ขยายตัวดี ผลส่วนหนึ่งจากเงินเยนที่อ่อนค่า ส่วนมูลค่านำเข้า เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนเดียวกันขาดดุลมูลค่า -6.6 แสนล้านเยน ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากการผลิตสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์สำนักงานที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Australia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 4 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง จากต้นทุนค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมที่ลดลง

United Kingdom: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัว ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 1.0 จุด กลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากติดลบในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มขึ้นทุกหมวด บ่งชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญได้แก่ สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่านำเข้า เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

South Korea: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

Taiwan: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อน ทำให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.5 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 6.7 ในเดือนก่อน

Malaysia: mixed signal

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 58 ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกัน

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม และก่อสร้างที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 57 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.1 มูลค่านำเข้า เดือน พ.ย. 57 กลับมาหดตัวร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าอุปกรณ์ด้านการขนส่งที่ลดลงมาก ทั้งนี้ การส่งออกที่เร่งตัวกอปรกับการนำเข้าที่หดตัว ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลที่ 2.7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดบ้าน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และค่าขนส่งที่ลดลง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัว อาทิ เครื่องหนัง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 29 ม.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,586.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายรายสัปดาห์เฉลี่ยต่อวันสูงถึง 57,534 ล้านบาท จากการขายทำกำไรของนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเป็นปรับลดลงของหุ้นกลุ่มธนาคารโดยเฉพาะ BAY ที่มีความผันผวนสูง รวมถึงความกังวลการเลือกตั้งของกรีซที่อดีตฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงข้างมาก แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากที่ประชุม กนง. และ FOMC ในวันที่ 28 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 10,199.2 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับลดลงเล็กน้อย 1-5 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศ ถึงแม้ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม โดยเป็นผลจากมูลค่าส่งออกเดือน ธ.ค. 57 ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 และ 6 เดือนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนถึง 1.21 และ 1.86 เท่าของยอดการประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 7,627.5 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 29 ม.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.29 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางของค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นเยนที่แข็งค่าขึ้นเ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.18 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 29 ม.ค. 58 ปิดที่ 1,272.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,282.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ