Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558
Summary:
1. ไทยหวังเศรษฐกิจอเมริกา-ออสเตรเลียฟื้นยอดส่งออกรถยนต์
2. ผู้ส่งออกย้ำไก่ไทยมาตรฐานสูง และพร้อมส่งออกเกาหลีใต้ทันที
3. Moody's คาดราคาน้ำมันร่วงไม่หนุนเศรษฐกิจโลกปี 58
1. ไทยหวังเศรษฐกิจอเมริกา-ออสเตรเลีย ฟื้นยอดส่งออกรถยนต์
- โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 58 คาดการณ์เบื้องต้นว่า การส่งออกยานยนต์ จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 1.2 ล้านคัน แต่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของตลาดใหญ่สำคัญๆ เช่น ออสเตรเลีย ว่าจะมีการฟื้นตัวหรือไม่ ขณะที่เชื่อว่าแอฟริกาจะดีขึ้น หลังจากสถานการณ์อีโบลาคลี่คลาย ขณะที่ ตลาดอเมริกาเหนือเริ่มมีทิศทางทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยโดยตรง และยังผลดีทางอ้อมอีกด้วย เนื่องจาก สหรัฐมีการค้าขายกับหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของเรา ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น ประเทศต่างๆ เหล่านั้นก็จะได้รับประโยชน์ต่อเศรษฐกิจด้วย ทำให้กำลังซื้อดีขึ้น และส่งผลดีมายังการส่งออกของไทย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 57 ปริมาณการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปมีจำนวน 1.128 ล้านคัน (ไม่มีการขยายตัวจากปี 56) เนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดออสเตรเลียและตลาดเอเชียชะลอตัวลง ญี่ปุ่น-ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากจึงนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทยลดลง ส่วนตลาดตะวันออกกลางเริ่มนำเข้าลดลงในช่วงครั้งหลังของปี 57 จากเหตุการณ์สู้รบกัน ส่วนตลาดแอฟริกาเริ่มนำเข้าลดลงจากเชื้ออีโบลาระบาด อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกรถยนต์ในปี 58 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะต้องลดภาษีรถยนต์เป็น 0% ตามกรอบ AEC ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะยอดการส่งออกผ่านชายแดนจากกลุ่ม CLMV ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ในปี 58 มีสัญญาณฟื้นตัวจากปี 57 เช่นกัน โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.8, 0.9 และ 2.8 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกรถยนต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.4 ของ GDP
2.ผู้ส่งออกย้ำไก่ไทยมาตรฐานสูง และพร้อมส่งออกเกาหลีใต้ทันที
- ผู้ส่งออกไก่ไทยทั้ง 25 บริษัท พร้อมเจาะตลาดเกาหลีใต้อีกครั้งมั่นใจผ่านการตรวจสอบรับรองโรงงานขั้นสุดท้ายตามกฏเกณฑ์ของเกาหลีใต้ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 เดือน คาดเพิ่มยอดส่งออกไก่สดไทยอีกประมาณ 10,000 ตันปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 57 ไทยมีการส่งออกไก่ไปยังทั่วโลกมีมูลค่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกไก่แปรรูปไปยังเกาหลีใต้ได้เพียงประเภทเดียว ซึ่งมีจำนวน 8.6 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 37.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของมูลค่าการส่งออกไก่รวม ซึ่งลดลงถึงร้อยละ -32.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเกาหลีใต้มีมาตรฐานรับรองสินค้าเกษตรที่เคร่งครัดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภายหลังจากกระทรวงเกษตร อาหารและกิจการชนบทของเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกไก่สดไปยังเกาหลีใต้ได้ประมาณเดือน มิ.ย.58 จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้การส่งออกไก่ของไทยไปยังเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ผู้ส่งออกไก่ไทยได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานโรงงานในการผลิตไก่เพื่อส่งออกจะมีส่วนสำคัญในการลดข้อจำกัดทางการค้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไก่จากไทยไปยังเกาหลีใต้กลับมาขยายตัวอีกครั้งในอนาคต
3.Moody's คาดราคาน้ำมันร่วงไม่หนุนเศรษฐกิจโลกปี 2558
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody's กล่าวว่า ภาวะราคาน้ำมันขาลงในขณะนี้ อาจไม่ส่งผลดีต่อปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศในกลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น บราซิล และประเทศนำเข้าน้ำมันบางประเทศในกลุ่ม G20 ทั้งนี้ Moody's ได้คาดการณ์ GDP ของกลุ่มยูโรโซน และญี่ปุ่นจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1 ในปี 58 ขณะเดียวกัน Moody's ระบุว่าสหรัฐและอินเดีย เป็น 2 ประเทศในกลุ่ม G20 ที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากภาวะราคาน้ำมันที่ลดลง พร้อมคาดว่า GDP ของสหรัฐ และอินเดียจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 และ 7.0 ในปี 58
- สศค. วิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงนั้นแม้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอุปทานการผลิตน้ำมันโลกแต่ส่วนหนึ่งก็มาจากอุปสงค์ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกด้วยซึ่งแม้จะส่งผลดีต่อกลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แต่ก็ส่งผลเชิงลบต่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รัสเซีย และบางประเทศในแอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโลกลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงลบอาจไม่สูงนักเนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดังกล่าวไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทยทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปจะขยายตัวร้อยละ 2.8,0.9 และ 1.1 ต่อปี ตามลำดับ(คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257