Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558
1. ธ.กรุงไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3.9%
2. GDP มาเลเซีย ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยบะ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
3. อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 58 อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี 7 เดือน
- นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 58 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงกระตุ้นของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัว ประกอบกับการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจะช่วยส่งผลดีผ่านต้นทุนการผลิตที่ลดลงและอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์สอดคล้องกับ ธ.กรุงไทยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัวร้อยละ 3.9 หรือในช่วงการคาดการณ์ร้อยละ 3.4-4.4 ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ 1. ความผันผวนของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว 2. ความผัวผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) โดยธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น 3. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และการจับจ่ายใช้สอยของเกษตรกร
- GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.8 และ 4.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าร้อยละ 52.5 ของ GDP (ข้อมูลปี 57) แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกบ้างก็ตาม ดังเห็นได้จากในไตรมาสที่ 4 ปี 57 การส่งออกของมาเลเซียที่คิดเป็นร้อยละ 89.5 ของ GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
- ทั้งนี้ ประเด็นการยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาลเพื่อลดภาระทางการคลังในช่วงปลายปี 57 ที่ผ่านมา อาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากจะส่งผลต่อระดับเงินเฟ้อในระยะต่อไป
- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 58 ว่าอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของกำลังแรงงานรวม ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี 7 เดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานของออสเตรเลียในเดือนดังกล่าวที่อยู่ในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (labor participation rate) ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 64.3 ของวัยแรงงานจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 65.2 ทำให้สัดส่วนคนว่างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การจ้างงานแบบเต็มเวลาก็ลดลงด้วยเช่นกัน
- ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจออสเตรเลียที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับ ตัวเลขยอดขายปลีกล่าสุด เดือน ธ.ค. 57 ที่ขยายตัวในระดับต่ำเพียงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนว่ากำลังซื้อของประชาชนในประเทศซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากประชาชนจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายยามที่ไม่มีเงินได้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257