รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 13:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. ธปท.เตรียมลดประมาณการเงินเฟ้อ

2. GDP ญี่ปุ่น ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.04 ต่อปี

3. ราคาน้ำมันปรับเพิ่มต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน

1. ธปท.เตรียมลดประมาณการเงินเฟ้อ
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ที่ ธปท. ประเมินไว้ใน ปีนี้อาจต่ำกว่าร้อยละ 1 เล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยโดยรวมทั้งปียังคงเป็นบวก ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 เศษ ดังนั้นภาพรวมยังไม่นับเป็นภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ รายงานนโยบายการเงินครั้งล่าสุด ณ เดือน ธ.ค. 57 กนง.คาดการณ์ในปี 58 เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มอัตาเงินเฟ้อในปี 58 จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ร้อยละ 0.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 58) ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการชะลอตัวลงของภาวะเงินเฟ้อในปีนึ้คือ การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบจากความล้นเกินของอุปทานโลก โดยคาดว่าในปีนี้ ราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 96.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลให้ราคาสินค้าหมวดพลังงานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11.4 ในตะกร้าสินค้าหดตัว อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ จะยังมีการเพิ่มขึ้น อาทิ อาหารสำเร็จรูป และค่าโดยสารบางประเภท จากการปรับเพิ่มราคาก๊าซ NGV และ LPG ขณะที่ราคาสินค้าอาหารสด จะมีการเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นปกติตามฤดูกาล และเทศกาลต่างๆ
2. GDP ญี่ปุ่น ในไตรมาส 4/57 หดตัวร้อยละ -0.5
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/57 หดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาสโดยอยู่ที่ร้อยละ -0.5 เป็นผลให้ GDP ปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.04
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 4/57 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 และเมื่อขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยมูลค่าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้กิจกรรมภาคการผลิตขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด เป็นผลให้ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.04 ชะลอลงจากปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 นอกจากนี้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/58 คาดว่ายังจะขยายตัวได้สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 39.2 จุด แสดงถึงครัวเรือนชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น นอกจากนี้การประกาศเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ระยะที่ 2 ออกไปจนถึงเดือนเม.ย. 60 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศได้
3. ราคาน้ำมันปรับเพิ่มต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก (NYMEX) ปิด ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาที่ระดับ 52.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาน้ำมันเบรนท์ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดล่วงหน้าลอนดอน ปิดเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว โดย ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาปิดที่ระดับ 61.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.24 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้สาเหตุการปรับเพิ่มขึ้นของราคามาจากการลดจำนวนลงของแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ โดยจำนวนแท่นขุดเจาะล่าสุดได้ปรับลดลงอีกจำนวน 84 แท่น ลดลงเร่งขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่ลดลงไป 83 แท่น ทำให้จำนวนแท่นทั้งหมดคงเหลือ 1,056 แท่น ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 54 นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอีก 2 ประการที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความรุนแรงในลิเบียที่เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง และการปรับลดลงของสัญญาการขายล่วงหน้าของผู้ผลิตน้ำมัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะที่ยังคงลดลงต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันที่มีการฟื้นตัวในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับ ปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ ความรุนแรงในประเทศลิเบียที่เริ่มสร้างความกังวลครั้งใหม่หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมความรุนแรงได้อาจทำให้การผลิตมีปัญหาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นยังไม่มีสัญญาณของการเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ทิศทางราคาโดยรวมยังอยู่ในขาลง เหตุผลที่ยังคงมีน้ำหนักกดดันแนวโน้มราคาให้เป็นขาลง ได้แก่ ความสามารถในการผลิตของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีสูง และความจำเป็นในการผลิตน้ำมันในปริมาณมากเพื่อทดแทนการสูญเสียรายได้จากผลของราคา ทำให้ สศค. คาดว่าจะเห็นปริมาณน้ำมันดิบและปริมาณน้ำมันคงคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่การฟื้นตัวทางฝั่งอุปสงค์นั้นมีความแน่นอนที่น้อยกว่า ทั้งนี้ สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งทิศทางราคาในปัจจุบันยังคงอยู่ในแนวโน้มที่เราคาดการณ์

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ