Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
Summary:
1. สศช.เผยจีดีพีไทยปี 57 โตร้อยละ 0.7 คงตัวเลขคาดการณ์ปีนี้ที่ร้อยละ 3.5-4.5
2. หอการค้าไทย ห่วงผลกระทบราคาพลังงานผันผวน
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติตรึงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2
1. สศช.เผยจีดีพีไทยปี 57 โตร้อยละ 0.7 คงตัวเลขคาดการณ์ปีนี้ที่ร้อยละ 3.5-4.5
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงข้อมูลเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส 4/57 ซึ่งจีดีพีมีการขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ทั้งปี 57 มีการขยายตัวร้อยละ 0.7 สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 58 สศช. ยังคงตัวเลขการขยายตัวที่ร้อยละ 3.5-4.5
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ หากพิจารณาจากแหล่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Contribution to GDP) ด้าน Demand Side พบว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/57 มาจากการส่งออกสุทธิร้อยละ 3.7 การบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 0.9 และการลงทุนเอกชนร้อยละ 0.6 ในขณะที่ด้าน Supply Side มาจากสาขาการขนส่งสื่อสารร้อยละ 0.7 ค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 0.3 อุตสาหกรรมร้อยละ 0.3 ไฟฟ้าร้อยละ 0.2 ตัวกลางทางการเงินร้อยละ 0.2 และโรงแรมและภัตตาคารร้อยละ 0.2 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.7 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 58 สศค. คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 - 4.4 คาดการณ์ ณ ม.ค.58) โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) การใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และ 2) อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง
2. หอการค้าไทย ห่วงผลกระทบราคาพลังงานผันผวน
- นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า หอการค้าไทยได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานรวมทั้งการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้แก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบด้านบวกแก่ภาคธุรกิจในแง่ของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ลดลง โดยข้อมูลล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์อยู่ที่ 57.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 48.39 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อภาคเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน สะท้อนจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในปี 57 หดตัวร้อยละ -6.2 เร่งขึ้นจากปี 56 ที่หดตัวร้อยละ -0.8 ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -11.1 สะท้อนรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องเช่นกัน หากมีการแปรรูปสินค้าเกษตรให้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ก็จะเป็นผลดีต่อเกษตรกร และส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย
3. ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติตรึงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2 โดยเป็นการคงไว้ที่อัตราดังกล่าวต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนก็มีความสำคัญ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราที่อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ จากช่วงก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.25 เป็นการทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งช่วยกระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านสินค้าส่งออกกับญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจุบันเงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้เกาหลีใต้มีโอกาสเสียเปรียบในด้านการส่งงออกมากขึ้น และคาดว่ารัฐบาลเกาหลีใต้อาจมีมาตรการที่ทำให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257