นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าเป้าหมาย ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการปรับอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวดี ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น”
ในเดือนมกราคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 158,882 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,171 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิเท่ากับ 665,222 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,124 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 158,882 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,171 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 2.6 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,007 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.4 โดยมีสาเหตุสำคัญจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังชะลอตัว ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 1,843 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 สะท้อนการบริโภคในประเทศยังคงเติบโตได้ดี ประกอบกับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของโรงกลั่นแยกก๊าซ และการให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz
ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,973 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 สาเหตุสำคัญจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการจำหน่ายกำไรจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าเป้าหมาย 2,744 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.1 เนื่องจากโรงงานยาสูบจะนำส่งรายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากเดิมที่ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนมกราคม 2558
อากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 577 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลง
อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,302 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.3 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล อีกทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,075 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.3 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจากเงินเดือนสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนสภาพการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดี
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 665,222 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,124 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังต่ำกว่าประมาณการ 15,993 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 ในขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 12,225 และ 8,308 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.7 และ 15.5 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 475,904 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,050 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,066 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.8) เนื่องจากผลการจัดเก็บภาษีรอบครึ่งปีบัญชี (ภ.ง.ด. 51) ของบริษัทญี่ปุ่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,490 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 4,242 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.1) ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,732 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงและการนำเข้าในช่วงที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัว
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,169 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 59.5) เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากการจำหน่ายกำไรจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สะท้อนผลประกอบการที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,022 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจากดอกเบี้ย เงินปันผล และเงินเดือนจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 142,181 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,238 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 43.0) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจาก 0.75 บาทต่อลิตร เป็น 3.25 บาทต่อลิตร และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.8) เนื่องจากปริมาณยาสูบที่ชำระภาษีขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,940 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.1) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาษีเบียร์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,947 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสำหรับผู้ส่งออกเบียร์ จากเดิมที่ให้ผู้ส่งออกเบียร์ชำระภาษีไว้ก่อนแล้วจึงขอคืนภาษีในภายหลัง เป็นการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ส่งผลให้ปริมาณเบียร์ที่ชำระภาษีมีจำนวนลดลง และภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,108 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.6) เนื่องจากการบริโภคสุราที่มีภาระภาษีต่อหน่วยต่ำมีปริมาณสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 40,019 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,181 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.8) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ5.6 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 53,436 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,225 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.7) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค และการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่สูงกว่าประมาณการ
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 61,982 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,308 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 15.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 38.5) สาเหตุสำคัญมาจากการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ 5,562 ล้านบาท และค่าใบอนุญาตต่างด้าวจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 854 ล้านบาท
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 2,577 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 82 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.0) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ที่ราชพัสดุต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 87,043 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,827 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 77,903 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,603 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 9,140 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 3,877 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 677 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.2
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 4,842 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,073 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.1
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 4,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 874 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.1
2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 1 งวด เป็นเงิน 7,989 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 141 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 1.7
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543
--กระทรวงการคลัง--