รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2015 11:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. ธปท. เผยตั้งแต่ต้นปีมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 310 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่น่าเป็นห่วง

2. ยอดจดทะเบียนบริษัทใหม่ ในเดือน ม.ค.58 ขยายตัวร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. Pwc ชี้ไทยได้ขยับอันดับตลาดที่น่าลงทุนดีขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ของตลาดที่น่าลงทุน

1. ธปท. เผยตั้งแต่ต้นปีมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 310 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่น่าเป็นห่วง
  • โฆษก ธปท. กล่าวในเรื่องภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ยังไม่เป็นที่น่ากังวล เพราะนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 310 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นสุทธิ 108 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไหลออกสุทธิจากตลาดพันธบัตร 418 ล้านเหรียญสุทธิ ทั้งนี้ ธปท. ยังระบุว่า การที่เงินไหลออกดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เนื่องจากเป็นการปรับตัวตามทิศทางที่ปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าแม้จะมีการไหลออกของเงินทุนดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีเงินทุนจากการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ซึ่งทั้งปี 2557 มี FDI กว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 14.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศยังแข็งแกร่งมาก เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 6 ก.พ. 58 อยู่ในระดับสูงที่ 156.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า อันจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ในขณะที่เสถียรภาพภายในก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่ากังวล คือ 1) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 58 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ 2) อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม
2. ยอดจดทะเบียนบริษัทใหม่ ในเดือน ม.ค.58 ขยายตัวร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 58 มีมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,980 ราย เพิ่มขึ้น 2,659 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 80.0 และหากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 12.0 ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกว่า 18,620 ล้านบาท และคาดว่าในปี 58 ยอดการจดทะเบียนจะไม่ต่ำกว่า 60,000-65,000 ราย
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ยอดจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ เดือนม.ค. 58 ขยายตัวนั้น บ่งชี้ว่า 1) การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกต่อภาคการผลิตในปี 58 ต่อไป 2) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการมองแนวโน้มการค้าการลงทุนในอนาคต 3) การเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) การค้าชายแดนที่ขยายตัวได้ดี ล้วนเป็นปัจจัยเสริมและโน้มนำให้เกิดการตั้งกิจการใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ ประเภทของนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ผลิตเกียร์รถยนต์ 2,000 ล้านบาท 2) ประกอบกิจการซื้อขายเช่า ให้เช่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อาคารชุด จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 1,000 ล้านบาท 3) ประกอบกิจการ ผลิต จำหน่าย การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ 884 ล้านบาท 4) ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาล รับรักษาคนไข้และผู้ป่วยเจ็บ 800 ล้านบาท และ 5) ประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับอาหาร 550 ล้านบาท
3. Pwc ชี้ไทยได้ขยับอันดับตลาดที่น่าลงทุนดีขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ของตลาดที่น่าลงทุน
  • ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส หรือ PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 18 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum หรือ WEF ประจำปี 58 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลก 1,322 คน ใน 77 ประเทศ พบว่า ซีอีโอหรือผู้นำธุรกิจในอาเซียนถึง 49% มองว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ส่วนเศรษฐกิจอาเซียนปี 58 มองว่าจะเติบโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมา Pwc ระบุว่าอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอาเซียนที่บรรดาซีอีโอกังวลมากที่สุดคือ ปัญหาการติดสินบนและคอร์รัปชันที่ซีอีโอให้ความกังวลมากที่สุดถึง 79% ตามด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 78% ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ซีอีโอมองว่ามีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายมากที่สุด ได้แก่ ความวุ่นวายทางการเมือง การจัดเก็บ และการผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น และการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ขณะเดียวกัน ซีอีโออาเซียนถึง 47% เชื่อว่าปี 58 รายได้บริษัทจะเติบโตจากปีที่ผ่านมา และอีก 54% มองว่ารายได้จะเติบโตได้ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี โดยตลาด สำคัญ 3 อันดับแรกที่ซีอีโออาเซียนมองว่าจะช่วยผลักดันให้รายได้ของธุรกิจให้เติบโต ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย โดยปีนี้ประเทศไทยได้ขยับอันดับตลาดที่น่าลงทุนดีขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ของตลาดที่น่าลงทุน นอกเหนือไปจากกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) จากปีก่อนที่อยู่อันดับ 6 ขณะที่ประเทศที่ถือว่าเป็นตลาดที่น่าลงทุนอันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย รองลงมา เม็กซิโก โคลอมเบีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของบริษัททั่วโลก ได้แก่ 1) การปรับตัวดีขึ้นของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจากร้อยละ 0.6 ในไตรมาส 3 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.3 ในไตรมาส 4 ของปี 2557 2) แนวโน้มการส่งออกปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวนำ ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติ 3) อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก 4) แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่มีโมเมนตัมแรงขึ้น ซึ่งนำโดยการลงทุนของภาคเอกชนตามความเชื่อมั่นที่จะค่อยๆ ดีขึ้น และตามด้วยการลงทุนขนานใหญ่จากภาครัฐฯ ตามแผนการลงทุนคมนาคมขนส่ง 5) การออกมาตรการส่งเสริมการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทั้ง IHQ และ ITC เพื่อต่อยอดการเป็นศูนย์กลาง AEC

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ