Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558
1. กสิกรไทยคาด'ตรุษจีน'ดึงชาวจีนเที่ยวไทย Q1/58 ราว1.35 ล้านคน
2. R&Iยืนยันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเชิงลบ-ติดตามการเมือง
3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.75 ต่อปี เหลือ 7.5 ต่อปี
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "เทศกาลตรุษจีน " โดยเห็นว่าการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยของชาวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน น่าจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีของการกลับมาคึกคักของนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนประมาณ 1.35 ล้านคนในช่วงไตรมาส 1 ปี 58 และเติบโตร้อยละ 30.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งการเติบโตที่สูงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปรียบเทียบฐานที่ต่ำในไตรมาสแรกของปี 57 ที่หดตัวร้อยละ 11.9) และคาดว่าจะสร้างรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 54,000 ล้านบาท เติบโตประมาณร้อยละ 32.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 57 หลังจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 18.7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมและจากข้อมูลล่าสุด 9 วันแรกของเดือน ก.พ. 58 มีจำนวนวนักท่องเที่ยวรวม 451,384 คน ขยายตัวที่ร้อยละ 15.1 กอปรกับ ในช่วงวันที่ 18-24 ก.พ. 58 เป็นช่วงหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนของชาวจีน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 58 จะอยู่ที่ 28.3 ล้านคนหรือขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 ต่อปี
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ว่า R&I ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Rating) และสกุลเงินบาท (Domestic Currency Issuer Rating) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ และคงสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็นลบ (Negative Outlook) นอกจากนี้ ยังยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ a-2
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคงสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็นลบ (Negative Outlook) ของ R&I เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเข้าสู่เสถียรภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจประกอบกับเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว และภาครัฐกำลังดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ไปพร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการบริโภคภายในประเทศ
- ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบสามปีจากร้อยละ 7.75 ต่อปี เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้หลังเงินเฟ้อของประเทศ ปรับเพิ่มสูงขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียเป็นการใช้นโยบายการเงิน ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาส ที่ 4 ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และเมื่อเปรียบเทียบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 57 กับไตรมาสก่อนหน้า พบว่ายังคงหดตัวร้อยละ -2.1 เนื่องจากสินค้าคงคลังได้ลดลงจากไตรมาสก่อนมากถึงร้อยละ -123.3 ตามราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างมาก ดังนั้น การที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จะมีส่วนสำคัญในการส่วนสนับสุนนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะสั้น ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง นอกจากนี้ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.0 ต่อปี แม้จะปรับลดลงจากร้อยละ 8.4 ต่อปี ในเดือนธันวาคม 57 แต่ยังคงสูงกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ช่วงร้อยละ 3 - 5 ต่อปี ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของอินโดนีเซียในการที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพทางด้านราคา
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257