รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 23, 2015 11:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. จ่อมาตรการแก้ปัญหาผลไม้ พณ.นัดถก 'เกษตร' เร่งระบายทั้งในประเทศ-ตปท.

2. จีนเดินหน้าโครงการพื้นฐานขนส่งขนาดใหญ่ต่อปีนี้ หนุนเศรษฐกิจขยายตัว

3. ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐฯ คาดขาลงราคาน้ำมันใกล้จบ

1. จ่อมาตรการแก้ปัญหาผลไม้ พณ.นัดถก 'เกษตร' เร่งระบายทั้งในประเทศ-ตปท.
  • ก.พาณิชย์จะมีการหารือร่วมกับก.เกษตรฯ ในการรับมือผลไม้ฤดูการผลิตปี 58 ที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาด โดยจะเร่งกระจายผลไม้ไปยังตลาดปลายทางในประเทศ และจะเร่งผลักดันการส่งออก โดยจัดคณะผู้แทนการค้าจากประเทศต่างๆ เข้ามาซื้อผลไม้ไทย จัดคณะผู้แทนการค้าไทยออกไปขายผลไม้ยังประเทศเป้าหมายและประเทศเพื่อนบ้าน และนำผู้ประกอบการค้าผลไม้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกันนั้น ยังมีแผนผลักดันการส่งออกผลไม้ไปหมู่เกาะมัลดีฟส์เป็นพิเศษ เพราะมีศักยภาพและอนาคตดี เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกไปเยือนเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 57 ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับผลไม้ของไทย มี 2 ประเภทคือ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แช็ง และแห้ง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป โดยสินค้าทั้ง 2 ประเภทมีสัดส่วนการส่งออกต่อมูลค่ารวมร้อยละ 0.56 และ 0.76 ตามลำดับ มีตลาดหลักในการส่งออกคือ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยสินค้าประเภทผลไม้มีการขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ที่มีการขยายตัวที่ร้อยละ 10.23 และ 19.98 ในปี 56 และ 57 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สดใสของการส่งออกผลไม้ของไทย โดยการส่งออกผลไม้ทั้งแบบสดและแปรรูปจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดของผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากราคาผลผลิตที่ไม่ลดต่ำลงมากจากภาวะล้นเกินของอุปทาน อีกทั้งยังทำรายได้นำเข้าให้กับประเทศอีกด้วย
2. จีนเดินหน้าโครงการพื้นฐานขนส่งขนาดใหญ่ต่อปีนี้ หนุนเศรษฐกิจขยายตัว
  • สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า การสร้างเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกนั้น จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะสนับสนุนให้มีการใช้เงินทุนภาคสังคมผ่านทางมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในโครงการสร้างระบบขนส่งปีนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 โดยในไตรมาสที่ 4 แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่การลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการส่งออกขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง กอปรกับจีนมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 47.8 ของ GDP ปี 56 ดังนั้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจึงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 58 ได้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือการชะลอลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากดัชนีราคาบ้านใหม่ มีการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
3. ยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐฯ คาดขาลงราคาน้ำมันใกล้จบ
  • บริษัท EOG Resources ผู้นำด้านการผลิตพลังงาน Shale ในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะลดลงสวนทางกับการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) และ หน่วยงานด้านพลังงานสากล (IEA) ที่มองว่าปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดย EOG Resources มองว่าการลดลงอย่างรวดเร็วของแท่นขุดเจาะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการผลิตลดลง ปัจจัยด้านอุปทานดังกล่าวทำให้ทางบริษัทมองว่าความตกต่ำของราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้นและน่าจะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ โดยทางบริษัทเองก็ได้มีการปรับแผนเพื่อลดกำลังการผลิตลงถึงครึ่งหนึ่งจากปีก่อนหน้าและลดเงินลงทุน ลงแล้วในปีนี้กว่าร้อยละ 40.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของแท่นขุดเจาะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงเดือนที่ผ่านมา การลดลงของแท่นขุดเจาะเกิดขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกันนับตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. จนถึงปัจจุบันลดลงแล้วกว่าร้อยละ 35.0 ทำให้จำนวนยอดรวมลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 54 โดยนักลงทุนบางส่วนเริ่มมองถึงการวกกลับของราคาแล้ว สะท้อนจากจำนวนสัญญาการซื้อล่วงหน้าสุทธิ (Net long positions) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และเป็นการเพิ่มครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าก็ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในสัปดาห์ที่สองของเดือน ก.พ. 58 โดยอยู่ที่ระดับ 9.28 ล้านบาร์เรลต่อวันสูงที่สุดในรอบ 32 ปี แม้ว่าจะมีการลดทรัพยากรในการผลิตทั้งเงินลงทุน จำนวนแท่นขุดเจาะ และกำลังแรงงานขนานใหญ่ก็ตาม ปริมาณการผลิตจะยังเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ราคาจะยังไม่สามารถกลับสู่ระดับเสถียรภาพที่ประมาณ 80.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 49.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลซึ่งยังคงอยู่ในแนวโน้ม ที่ สศค. คาดการณ์ โดยคาดว่าราคาจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ