รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 20 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 23, 2015 12:02 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (%yoy) หรือคิดเป็นการขยายตัวจากไตรมาส ก่อนหน้าร้อยละ 1.7 หลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว (%mom_sa)ตามการขยายตัวของอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 5.5 ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 ส่วนอุปสงค์ภายนอกประเทศกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง จากการส่งออกสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการยังคงหดตัวที่ร้อยละ -0.3 ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการผลิต พบว่าการผลิตสาขาเกษตรกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.6 ขณะที่การผลิตนอกภาคเกษตรสามารถขยายตัวได้ทุกสาขา นำโดย สาขาขนส่ง สื่อสาร โทรคมนาคม และสาขา การค้าปลีก-ค้าส่ง ที่สามารถขยายตัวต่อเนื่องได้ที่ร้อยละ 6.5 และ 2.3 ตามลำดับ ขณะที่การผลิตสาขาอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และโรงแรม-ภัตตาคารสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.7 3.7 และ 3.6 ตามลำดับ หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ การขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เดือน ม.ค. 58 ได้ทั้งสิ้น 158.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.4 จากปีก่อนแต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 ซึ่งมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -2.6 จากปีก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฐานการนำเข้าลดลงร้อยละ -17.6 จากปีก่อน สะท้อนการนำเข้าที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 จากปีก่อน โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 จากปีก่อน ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.3 จากปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค. 57 - ม.ค. 58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ทั้งสิ้น 665.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากปีก่อน และสูงกว่าประมาณการตามเอกสาร1.1 พันล้านบาทหรือร้อยละ 0.2
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ม.ค. 58 มีมูลค่า 60.14 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.9 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -17.1 จากเดือนก่อนที่หดตัว ร้อยละ -5.6 แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการ ใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ร้อยละ 9.5 เร่งขึ้นจาก เดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 สะท้อนภาคการบริโภคภายในประเทศที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นแล้ว
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ม.ค. 58 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนธ.ค.57 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนม.ค.58 หดตัวร้อยละ -1.0
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.7 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพาราและข้าวเปลือกเป็นหลัก แต่ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้ง ในขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ตามการขยายตัวของผลผลิตสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ ส่วนผลผลิตในหมวดประมง สะท้อนจากปริมาณผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมที่ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 31.1
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ม.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันที่ร้อยละ -11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -12.5 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) ตามราคายางพารา และราคาข้าวเปลือกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการของโลกที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ สอดคล้องกับราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่หดตัวร้อยละ -5.1 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ตามราคา ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และราคาสุกรที่หดตัวลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนนี้ รวมทั้งราคากุ้งขาวแวนนาไมที่สะท้อนราคาสินค้าเกษตรในหมวดประมงปรับลดลงเนื่องจากผลผลิต ออกสู่ตลาดมากขึ้นเช่นกัน
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีขึ้นจาก เดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.4 ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว อย่างมีทิศทาง ทั้งการบริโภค และการลงทุน กอปรกับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่คาดว่าจะมีการขยายตัวจากยอดสั่งซื้อเสื้อสำหรับเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาก็ได้สะท้อนถึง สัญญาณความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถยนต์ อาหารเครื่องดื่ม และน้ำมันที่ชะลอตัว ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.0 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่หดตัว สอดคล้องกับใบอนุญาตสร้างบ้านใหม่หดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากใบอนุญาตสร้างบ้านเดี่ยวที่หดตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนม.ค. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตเครื่องจักรและสินค้าขั้นกลางเร่งขึ้น

Eurozone: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งปี 57 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึนจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ -6.7 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ -8.5 จุด จากมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นภายหลัง ECB ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเดือน ม.ค. 58

China: worsening economic trend

ราคาบ้านเดือน ม.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5ที่ร้อยละ -5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -4.3 ในเดือนก่อน โดยราคาบ้านหดตัวเร่งขึ้นใน 69 จาก 70 เมือง

Japan: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้าส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 0.04 โดยเป็นผลจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่องหลังการปรับขึ้น VAT เป็นหลัก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบเดือนก่อนจากการผลิตสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป จีน และเอเชียที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -9.3 จากราคาสินค้าหมวดเชื้อเพลิงและพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง อนึ่ง ดุลการค้าเดือนดังกล่าวยังคงขาดดุล -1.2 ล้านล้านเยน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ลดลงจากระดับ 52.2 จุดในเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ ดัชนีฯอยู่เกินระดับ 50 จุด 9 เดือนติดต่อกัน สะท้อนกิจกรรมการผลิตที่ยังขยายตัวดี

United Kingdom: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.5 โดยราคาในหมวดอาหารและขนส่งยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหมวดเครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 58 BOE มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

India: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาเชื้อเพลิงและสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง มูลค่าส่งออก เดือน ม.ค. 57 หดตัวร้อยละ -11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง จากหมวดน้ำมันประกอบอาหาร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเหล็กที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -11.4 จากหมวดน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่หดตัว ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลลดลงที่ -8.3 พันล้านรูปี ขาดดุลต่ำสุดในรอบ 11 เดือน

Indonesia: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการส่งออกสินแร่ น้ำมันบริสุทธิ์ และก๊าซที่หดตัว มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -15.6 สูงสุดในรอบครึ่งปี จากหมวดน้ำมันและก๊าซ ดุลการค้าเกินดุลสูงสุดในรอบ 11 เดือนที่ 7.1 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ วันที่ 17 ก.พ. 58 BI ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

Singapore: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.9 มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -13.4 ผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวเกินดุล 8.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Taiwan: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อน จากการบริโภคทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวชะลอลง การส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง และการลงทุนซึ่งหดตัว ทำให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 56

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ม.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้ระดับ 1,600 จุด โดย ณ วันที่ 19 ก.พ. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,599.96 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียง 44,625 ล้านบาท โดยนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซ ภายหลังเยอรมนีปฏิเสธข้อต่อรองขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือนของกรีซ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,486.19 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ 1-14 bps จากแรงขายของนักสถาบันในประเทศ จากการรอความชัดเจนกรณีกรีซดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะมีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 2 ปี และ 3 ปี และพันธบัตรรัฐบาล อายุ 15 ปี แต่ได้รับความสนใจเพียง 1.38 1.31 2.22 2.80 4.77 และ 0.81 เท่าของยอดการประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 6,030.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 19 ก.พ. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.38 จากสัปดาห์ก่อน สวนทางกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้น ค่าเงินเยนที่แข็งค่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้น ร้อยละ 0.53 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 19 ก.พ. 58 ปิดที่ 1,213.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,231.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ