รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 24, 2015 13:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. สศก.ผลักดันเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่น เพิ่มรายได้กว่าข้าวทั่วไปเกือบ 2 เท่า

2. "ส.อ.ท." คาด อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ปีนี้โตร้อยละ 4.0

3. อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์ เดือน ม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.4 หลังราคาน้ำมันร่วง

1. สศก.ผลักดันเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่น เพิ่มรายได้กว่าข้าวทั่วไปเกือบ 2 เท่า
  • นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยมีการขยายตัวร้อยละ 5-10 ต่อปี ขณะเดียวกันข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในประเทศไทยมีราคาต่ำกว่าข้าวญี่ปุ่นที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรงมาก ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นหันมาใช้ข้าวญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศแทน จึงคาดว่าความต้องใช้เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักในการขยายพันธุ์จะสูงถึงประมาณ 40 ตันต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า สถานการณ์ราคาข้าวไทยในตลาดโลกล่าสุดในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 420 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นการหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าอุปสงค์ โดยปริมาณการผลิตข้าวในตลาดโลกปี 57 อยู่ที่ 475.57 ตัน ขณะที่ปริมาณการบริโภคข้าวของโลกอยู่ที่ 474.56 ตัน กอปรกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งมีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ราคาข้าวลดลง และส่งผลต่อเนื่องให้รายได้เกษตรกรลดลง โดยล่าสุดในเดือน ม.ค. 58 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -9.5 ซึ่งสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่จะซบเซาลง ดังนั้นเกษตรกรควรปรับเปลี่ยนการผลิตโดยหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศที่จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหารายได้เกษตรกรได้
2. "ส.อ.ท." คาด อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ปีนี้โตร้อยละ 4.0
  • นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน เลขาธิการกลุ่ม อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินล่าสุด แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปีนี้ ยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.0 มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท สูงว่าปีก่อนที่มีมูลค่า 1.81 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 7 มีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท และส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.0 มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะโทรทัศน์ที่เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบทีวีจิตอล 2) อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องทำความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น จะมียอดขายสูงขึ้น และ 3) การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่หันมาใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมาขึ้น ก็เป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยเป็นฐานผลิตที่ใหญ่สำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ สำหรับในแง่ของด้านการส่งออกในปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มูลค่าการส่งออกปี 57 สูงถึง 33,028.86 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ในขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งอออก 23,583.26 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.5
3. อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์ เดือน ม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.4 หลังราคาน้ำมันร่วง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.2 ตามราคาน้ำมันและอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันโลกมีการปรับฐาน รวมทั้งราคาอาหารปรับตัวลดลงแตะร้อยละ 2.2 ในเดือนม.ค. 58 จากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ถือเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจสิงคโปร์มีสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนในประเทศสูงเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 35.0 ของ GDP ปี 2556 เป็นผลให้ GDP ไตรมาส 4/57 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในแดนลบไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค. 58 ยังคงอยู่ในแดนบวกที่ร้อยละ 1.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ดี ภาคการค้าระหว่างประเทศก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/58 เนื่องจากมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -13.4 จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ