รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2015 14:47 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนม.ค. 58 ปีงปม. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -57.6 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน ม.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ขณะที่การนำเข้าในเดือน ม.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -11.4 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 91.1
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อ สหรัฐฯ เดือน ม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อ ญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                Forecast   Previous
Feb: Inflation (%yoy)       -0.4      -0.4
  • จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 จากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน รวมถึงอัตราค่าโดยสารรถร่วมบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทในเดือนที่ผ่านมา
Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนม.ค. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 215.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 197.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 181.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 16.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 89.0 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 23.5 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 23.0 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 17.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -33.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี งปม. 58 ในช่วง 4 เดือนแรกปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ 964.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 37.4 ของวงเงิน งปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -57.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -22.9 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -80.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 17.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ชดเชย การขาดดุล ขาดดุลเท่ากับ -63.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ดุลการคลังรัฐบาลขาดดุลจำนวน -405.4 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน ม.ค. 58 มีมูลค่า 17,248.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 จากการขยายตัวชะลอลงและหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -17.9 ตามการหดตัวของ ยางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.1 ประกอบกับ สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.6 ในขณะที่ สินค้ายานยนต์ขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 11.8 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.7 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.8
  • การนำเข้าในเดือน ม.ค. 58 มีมูลค่า 17,705.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -46.9 ตามราคาสินค้าเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวเช่นกันร้อยละ -0.6 และ -3.7 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -10.8 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.9 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 58 ขาดดุล -0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 58 หดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากเครื่องประดับ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย อาหาร และวิทยุ โทรทัศน์ ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.3
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 23,405 คัน หรือ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -28.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนม.ค. 58 อยู่ที่ 36,316 คัน หรือหดตัวร้อยละ -13.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -9.0 จากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 91.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 92.7 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกหลังจากที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ 4/57 จากความกังวลเรื่องคำสั่งซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคเกษตร จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ความผันผวนของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้จ่ายภาครัฐถือเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 58 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -0.4 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 จากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน รวมถึงอัตราค่าโดยสารรถร่วมบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทในเดือนที่ผ่านมา

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

เมื่อ 24 ก.พ. 58 ประธาน Fed กล่าวว่าจะยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC อีก 2-3 ครั้งข้างหน้า ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 96.4 จุด ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี 5 เดือนในเดือนก่อน ผลจากผู้บริโภคประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในระยะข้างหน้าแย่ลง ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 2.82 แสนหลัง ต่ำสุดในรอบ 11 เดือนจากทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียม ราคากลางบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 2.0 แสนดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 4.81 แสนหลัง หรือหดตัวร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกที่ลดลง ราคากลางบ้าน เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาในภาคตะวันตกที่ปรับเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงครั้งแรกในรอบมากกว่า 5 ปี จากต้นทุนค่าคมนาคมขนส่งที่ปรับลดลงมากจากราคาน้ำมันที่ลดลง ยอดขายสินค้าคงทน เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปกรณ์ด้านการขนส่งขยายตัวดี

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.พ. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 53.5 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด โดยดัชนีฯ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.1 และ 53.9 จุด ตามลำดับ บ่งชี้การฟื้นตัวของภาคการผลิตยูโรโซน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ -6.7 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -8.5 จุด โดยดัชนีฯ ในประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนีฯ ในเยอรมนี สเปน ออสเตรีย และโปรตุเกส ยังคงปรับตัวลดลง บ่งชี้ความไม่แน่นอนของการบริโภคภาคเอกชนยูโรโซน

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการกลับสู่ระดับเหนือ 50.0 จุด ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

Japan: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารยังคงปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ค่าขนส่งและโทรคมนาคมลดลงต่อเนื่อง อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่ลดลง ยกเว้นการผลิตสินค้าในหมวดชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ยังขยายตัวได้ดี ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดซื้อสินค้าในหมวดเชื้อเพลิง ยานยนต์และสินค้าทั่วไปที่ปรับตัวลดลง

United Kingdom: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวได้ดีทั้งการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.6 สูงสุดในรอบ 7 ปี ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในทุกหมวดสินค้า หรือหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้า จากการเร่งใช้จ่ายไปแล้วในช่วงปลายปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 1.0 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจและฐานะการเงินในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มการซื้อสินค้าสำคัญปรับลดลงเล็กน้อย

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวมากสุดในรอบ 2 ปี 8 เดือน จากการนำเข้าเชื้อเพลิงจากสินแร่ (สินค้านำเข้าอันดับ 2 สัดส่วนร้อยละ 15.5 จากการส่งออกรวม) ที่หดตัวร้อยละ -36.8 จากการส่งออกที่หดตัวน้อยกว่าการนำเข้าที่หดตัว ส่งผลให้ ดุลการค้าขาดดุลลดลง ที่ 68.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -0. 1 ในเดือนก่อนหน้า นับว่าอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์และเครื่องเวชภัณฑ์ที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 5.3 และ 3.6 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์ไม่ขยายตัว และผลผลิตหมวดเครื่องมือขนส่งหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ดัชนีดังกล่าวยังหดตัวร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจาก ร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า จากทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง ทำให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.9 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ขยายตัวชะลอลงถึงหดตัว มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในเดือนก่อนและเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 4 เดือน มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน โดยรวมแล้วการส่งออกที่กลับมาขยายตัวทำให้ ดุลการค้า เดือน ม.ค. 58 ขาดดุล 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนระหว่างวันและปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 26 ก.พ. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,593.55 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายรายสัปดาห์เฉลี่ยต่อวันสูงถึง 62,662.70 ล้านบาท จากการขายของนักลงทุนชาวต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากข่าวลือว่าการประมูล 4G อาจเลื่อนออกไป สร้างความกังวลแก่นักลงทุน และทำให้หุ้นหมวดโทรคมนาคมปรับตัวลดลง ประกอบกับตัวเลขมูลค่าส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 8,753.84 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-14 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ จากที่ประธาน Fed ออกมาสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ในอีก 2-3 ครั้งข้างหน้า และการเจรจาขยายเวลาชำระหนี้ของกรีซประสบความสำเร็จ สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่า ที่ประชุม กนง. ในวันที่ 11 มี.ค. 58 นี้ อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่ดีนัก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,931.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 26 ก.พ. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.72 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางของค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นเยนและ ยูโรที่อ่อนค่าลง ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.80 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 26 ก.พ. 58 ปิดที่ 1,214.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,199.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ