Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2558
Summary: 1. บัณฑิตรับประเมินศก.ไทยยาก เหตุศก.โลกเสี่ยงภาวะเงินฝืด
2. จีนเผยยอดส่งออกเดือน ก.พ. 58 พุ่งร้อยละ 48.9 ขณะนำเข้าร่วงร้อยละ -20.1
3. ท่าทีโอเปค+ค่าเงินแข็ง กดน้ำมันร่วง
1. บัณฑิตรับประเมินศก.ไทยยาก เหตุศก.โลกเสี่ยงภาวะเงินฝืด
- นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานสมาคมตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ภาพเศรษฐกิจในปีนี้ประเมินยากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ประเทศอุตสาหกรรมหลักมีเพียงสหรัฐฯ ที่ดูดีขึ้น แต่อีกหลายประเทศชะลอตัว โดยราคาน้ำมันเป็นสิ่งสะท้อนว่าอำนาจซื้อเศรษฐกิจโลกลดลง ฉุดการค้าบริการ ชะลอตัว นอกจากนี้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ส่วนราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 20 จากตลาดโลก ที่ลดลงร้อยละ 40 ทำให้การปรับตัวลดลงราคาน้ำมันไม่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภค กระทบต่อความสามารถการใช้จ่าย อีกทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐทำได้ไม่เต็มที่ การส่งออกลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน การลงทุนภาคเอกชนไม่ขับเคลื่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนหน้าที่มีปัญหา เรื่องความรุนแรงทางการเมืองที่ร้อยละ 3.9 (ประมาณการ ณ เดือนม.ค.) โดยเศรษฐกิจไทยยังอาจเจอปัจจัยท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้คาดว่า ภาคการส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.4 นอกจากนี้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังฉุดกำลังซื้อของภาคการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยเศรษฐกิจของไทยด้านบริการ รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ หากสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าก็จะเป็นอีกแรงสนับสนุนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ
2. จีนเผยยอดส่งออกเดือน ก.พ. 58 พุ่งร้อยละ 48.9 ขณะนำเข้าร่วงร้อยละ -20.1
- สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยว่า จีนมียอดส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9 ในเดือน ก.พ. 58 เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่หดตัวร้อยละ -3.2 ในเดือน ม.ค. 58 อย่างไรก็ตาม ยอดนำเข้าร่วงร้อยละ -20.1 ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ -19.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 1.04 ล้านล้านหยวน ขณะที่มีมูลค่าการนำเข้าที่ 6.661 แสนล้านหยวน ส่งผลให้จีนเกินดุลการค้าทั้งสิ้น 3.705 แสนล้านหยวน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 48.9 สะท้อนถึงอุปสงค์ ในตลาดโลกที่เริ่มมีทิศทางบวก ขณะที่การนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจจีนยังคงมีความอ่อนแรง อย่างไรก็ดี คาดว่าการนำเข้ามีโอกาสจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด สูงสุดในรอบ 7 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 49.7 จุดในเดือนก่อน ถือเป็นสัญญาณบวกของภาคอุตสาหกรรมหลังทางการจีนเริ่มใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (HSBC/Markit) อยู่ที่ระดับ 52.0 จุด เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจาก 51.8 จุดในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี หลังทางการจีน ปรับลดเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจในปี 58 เหลือประมาณร้อยละ 7 ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอตัวของบริโภคภายในประเทศ กอปรกับการชะลอลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นปัจจัยลบที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยสศค. คาดว่า ปี 58 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 (ประมาณการ ณ ม.ค. 58)
3. ท่าทีโอเปค+ค่าเงินแข็ง กดน้ำมันร่วง
- นายอับดุลลาห์ อัล บาดรี้ เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปค (OPEC) ออกมาย้ำจุดยืนของกลุ่มอีกครั้งว่าทางกลุ่มไม่ควรลดกำลังการผลิตอันจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตพลังงาน Shale ในสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นมาก ส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในสหรัฐฯ ปรับลดลง 14 เซนต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3 มาอยู่ที่ 49.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า Brent ปรับลดลง 35 เซนต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 มาอยู่ที่ 59.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่มีความผันผวนไม่มากและไม่ได้มีทิศทางที่ปรับลดลงรุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา สาเหตุน่าจะมาจากปัจจัยต่างๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของตลาดมีทิศทางที่คาดการณ์ได้ และยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่มีนัยสำคัญเข้าส่งผลกระทบเพิ่มเติม สถานการณ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน อย่างจำนวนแท่นขุดเจาะที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตก็ยังคงเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะยังคงทิศทางในลักษณะนี้ไปอีกจนถึงกลางปี นั่นทำให้ราคาในช่วงหลังจากนี้น่าจะมีความผันผวนลดลง ถ้าไม่มีปัจจัยใหม่ที่รบกวนด้านอุปทาน โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งเป็นราคาที่ส่งผลต่อไทยโดยตรง เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับน้ำมันดิบอีก 2 ประเภท โดยมีราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (5 มี.ค. 58) อยู่ที่ 51.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สศค. คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปี 58 จะอยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257