Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2558
1. กรุงเทพโพลล์คาดที่ประชุม กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.00
2. กบง.สั่งลดเบนซิน 2 บาท/ลิตร โซฮอล์ 1 บาทและดีเซล 50 สต.เริ่มพรุ่งนี้
3. GDP ญี่ปุ่น ในไตรมาส 4/57 หดตัวร้อยละ -0.8 (ตัวเลขปรับปรุง)
- กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง "คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม 2/2558 ของ กนง." พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.2 คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ร้อยละ 2.00 มีเพียงร้อยละ 16.7 เท่านั้นที่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่มติในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใน การประชุม กนง. ในวันพุธที่ 11 มีนาคม 58 ที่จะถึงนี้ มีมติว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี ส่วนความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเศรษฐกิจอยู่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากต้นปี ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 58 จนถึง 5 มี.ค. อยู่ที่ 51.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งทาง สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 58 จะอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปี 57 ที่อยู่ที่ 97.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยสมมติฐานด้านราคาน้ำมันดิบที่ยังต่ำกว่าปีที่แล้วดังกล่าว ซึ่งทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่สูงกว่าร้อยละ 2.00 และยังไม่มีปัจจัยให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง สอดคล้องกับสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจปี 58 ที่ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 58 นี้จะคงอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
- คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อาศัยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมไม่กระทบต่อภาระค่าครองชีพและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยประกาศคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือน มี.ค. 58 ไว้ที่ 24.16 บาท/กก. พร้อมปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด คาดส่งผลราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดลดลง ยกเว้น E85 ราคาคงเดิม
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงต้นปียังอยู่ในช่วงขาลง ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับผลิตที่ออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงกลางปีเป็นต้นไปราคาน้ำมันจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตลงได้ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อร้อยละ 11.4 ประกอบกับราคาน้ำมันยังเป็นต้นทุนสำคัญในการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเฉพาะค่าขนส่ง โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 หดตัวจากการลดลงของราคาสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.12 ทำให้คาดว่าทั้งปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4-1.4 (คาดการณ์ ณ ม.ค.58)
- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/57 หดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาสโดยอยู่ที่ร้อยละ -0.8 (จากตัวเลขเบื้องต้นที่ร้อยละ -0.5) เป็นผลให้ GDP ปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -0.03
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 4/57 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ -0.8 เป็นผลจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่องหลังการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยมูลค่าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้กิจกรรมภาคการผลิตขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/58 คาดว่ายังจะขยายตัวได้สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 39.2 จุด แสดงถึงครัวเรือนชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น นอกจากนี้ การประกาศเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มระยะที่ 2 ออกไปจนถึงเดือนเม.ย. 60 และอัตราเงินเฟ้อ ม.ค. 58 ที่ทรงตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.4 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน ต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศได้ นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.2 จุดในเดือนก่อน ซึ่งดัชนีฯ ยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดีจากอานิสงส์ภาคการส่งออก โดย สศค. คาดว่าปี 58 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257