Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2558
1. ธ. กรุงไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ MLR ลงร้อยละ 0.10-0.125
2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -2.5
3. ตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับ FOMC ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยหลังเดือน มิ.ย. 58
- ธ.กรุงไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนลงร้อยละ 0.10-0.125 ต่อปี และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน 24 เดือน 36 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลงร้อยละ 0.125 ต่อปี ส่งผลให้ MLR ลดลงจากร้อยละ 6.750 ต่อปี เหลือร้อยละ 6.625 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 58
- สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกรุงไทยนับเป็นธนาคารแห่งที่ 6 ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่อีก 3 แห่งได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 2 แห่งได้แก่ ธ.ออมสิน และ ธ.พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารทั้ง 6 แห่งเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 58 เริ่มมีผลส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจจริงซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนลดต่ำลงซึ่งจะส่งเสริมกับมาตรการภาครัฐอื่นๆในการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคต่อไป
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเปิดเผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือนก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้าสะท้อนราคาสินค้าเกษตรโดยรวมที่ถึงแม้จะยังหดตัวแต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นโดยเป็นผลจากราคาสัปปะรดโรงงานและปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวชะลอลงต่อเนื่องส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามโดยในเดือน ก.พ. 58 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนจากที่หดตัวร้อยละ -9.6 ในเดือนก่อนทำให้คาดว่ากำลังในการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเกษตรกรมีแนวโน้มที่ดีขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างไรก็ดีจากกำลังซื้อในตลาดโลกที่ปรับลดลง กอปรกับจำนวนผลผลิตที่มีความผันผวนตามปัจจัยทางด้านภูมิอากาศอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรยังคงมีความผันผวน
- ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0 - 0.25 ต่อปี ทั้งนี้ในแถลงการณ์ได้ยกเลิกใช้คำว่า "อดทน" ("Patient")ในการพิจารณากำหนดเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกทั้ง Fed ระบุว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับตัวกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ในระยะกลางและมีการจ้างงานเต็มอัตรา ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอาทิ Dow Jones ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 227.11 จุด (ร้อยละ 1.27 จากวันก่อนหน้า) และ S&P500 ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 25.22 จุด (ร้อยละ 1.22 จากวันก่อนหน้า)
- สศค. วิเคราะห์ว่ามติ FOMC ในครั้งนี้ที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมโดยส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิ.ย. 58 เป็นอย่างเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยสามารถสังเกตได้ว่าสกุลเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นภายหลังการประชุมดังกล่าว เป็นสัญญาณว่า นักลงทุนยังต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดทุน ในภูมิภาค ทั้งนี้แถลงการณ์ของ FOMC ที่ไม่มีคำว่า "Patient" เหมือนอย่าง ในแถลงการณ์ครั้งก่อนทำให้ตลาดคาดว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในอนาคตโดยตลาดคาดว่าFed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายหลังเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ใก้เคียงกับที่นางเจเน็ต เยลเลนประธาน Fed เคยรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐฯ (Congress) ไว้ก่อนหน้านี้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257