Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2558
Summary:
1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่น GDP ปีนี้โตแค่ร้อยละ 2.8
2. รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ชี้ภาคเอกชนฟื้นตัว
3. จีนคาดเศรษฐกิจขยายตัวราวร้อยละ 6.85 ในไตรมาส 1/58
1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่น GDP ปีนี้โตแค่ร้อยละ 2.8
- นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือโตร้อยละ 2.8 จากเดิมที่ร้อยละ 4.0 โดยระบุว่าแม้เศรษฐกิจจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่เป็นการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สาเหตุที่ปรับลด GDP ลงเนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาดในช่วง 3 เดือนแรก 2. การบริโภคที่ชะลอตัว และ 3. การลงทุนภาคเอกชนที่อาจต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตช้ากว่าที่คาด สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศและรายได้จากต่างประเทศที่ยังคงซบเซา อาทิ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ ในเดือน ก.พ 58 ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือน ม.ค 58 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.58 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่อย่างไรก็ดี หากภาครัฐสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้ภาคส่วนต่างๆในระบบเศรษฐกิจมีการเติบโตตาม ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี คาดว่าจะส่งผลให้บรรยากาศการบริโภคและลงทุนในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ช่วงร้อยละ 3.4-4.4 (คาดการณ์ ณ เดือนม.ค. 58)
2. รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ชี้ภาคเอกชนฟื้นตัว
- รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนเนื่องจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น และผลกระทบด้านลบจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภคของรัฐบาลเมื่อเดือน เม.ย. 57 ลดน้อยลง ซึ่งรัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงฟื้นตัวต่อไปในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 1/58 ของญี่ปุ่นพบว่ามีสัญญาณดีจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ โดยมูลค่าการส่งออก เดือน ก,พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศก็ยังคงหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -3.6 จากเดือน ม.ค.ที่หดตัวร้อยละ -9.0 ซึ่งการที่ภาคการค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของเงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออก อีกทั้งด้านต้นทุนการนำเข้าก็ปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันตลาดโลกซึ่งอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.58 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ซึ่งสะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 58 ยังทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.4 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของครัวเรือน และคาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคยังคงขยายตัวได้
3. จีนคาดเศรษฐกิจขยายตัวราวร้อยละ 6.85 ในไตรมาส 1/58
- สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของจีน จะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะกลับมามีเสถียรภาพในไตรมาสที่ 2 จากสมมติฐานที่ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนประกาศใช้เพิ่มเติมนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของจีน ปี 57 ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี ที่ร้อยละ 7.4 จากทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน นอกจากนี้ จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 1/58 พบว่ายังไม่ดีนัก สะท้อนจากมูลค่านำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -20.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวลดลง แม้ว่ามูลค่าส่งออกขยายตัวร้อยละ 48.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทในจีนที่เร่งการส่งออกก่อนช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน อีกทั้งยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงจากร้อยละ 12.0 ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงซบเซาต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีราคาบ้านเดือน ก.พ. 58 ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะ 1 ปี และอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องลงในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการประกาศเป้าหมายเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257