รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2015 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 เมษายน 2558

Summary:

1. สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือหั่นเป้าส่งออก ปี 58 โตร้อยละ 0

2. สศก.จับตาภัยแล้งกระทบภาคเกษตร คาดสินค้าข้าวเสียหายกว่า 212 ล้านบาท

3. นักเศรษฐศาสตร์จีน ระบุเศรษฐกิจจีนชะลอตัวถึงจุดต่ำสุดแล้ว

1. สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือหั่นเป้าส่งออก ปี 58 โตร้อยละ 0
  • ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 58 ลง โดยในสถานการณ์ที่ดีที่สุดจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหรือเติบโตร้อยละ 0 เนื่องจากภาคเอกชนประเมินตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. 58 จะมีมูลค่าประมาณ 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบประมาณร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนส่งผลให้การส่งออกไตรมาสแรกติดลบประมาณร้อยละ -5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าเดือนม.ค.58 ส่งออกได้มูลค่า 17,248.6 ล้าน เหรียฐสหรัฐ ลดลงร้อยละ-3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และนำเข้ามีมูลค่า 17,705.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และตัวเลขส่งออกสินค้าเดือนก.พ.58 ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 17,229.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ -6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากสาเหตุ 1) ตามการชะลอตัวของกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะยางพารา รวมถึงการหดตัวในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันดิบ 2) การส่งออกไปยังตลาดหลักลดลงทั้ง ญี่ปุ่น ยุโรป และจีน ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ สศค. ประมาณการการส่งออก ปี 58 โตอยู่ที่ ร้อยละ 1.4 อย่างไรก็ดี จะมีการปรับตัวเลขการประมาณการการส่งออกอีกครั้งในเดือน เม.ย. 58
2. สศก.จับตาภัยแล้งกระทบภาคเกษตร คาดสินค้าข้าวเสียหายกว่า 212 ล้านบาท
  • นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยการประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวบรวมข้อมูลจากจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี) ในช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค. 57 ถึง ณ วันที่ 6 มี.ค. 58 พบว่า มีพื้นที่ประสบภัย 75,706 ไร่ พบมูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าว 212.60 ล้านบาท จากพื้นที่เสียหาย 36,930.25 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 25,195.89 ตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผลิตภาคเกษตรในปี 58 มีปัจจัยกดดันจาก 1) สถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.พ. 58 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (หรือ -1.3 จากเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ตามการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือกเป็นสำคัญ ที่หดตัวลงร้อยละ -21.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้คาดว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในปี 58 อาจจะยังคงชะลอตัว และหากภัยแล้งมีความรุนแรงขึ้นจะยิ่งส่งผลลบต่อผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น และ 2) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ในเดือนก.พ. 58 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (หักอัตราเงินเฟ้อชนบท) ยังหดตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการบริโภคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของภูมิภาคจะยังคงอ่อนแอต่อไป
3. นักเศรษฐศาสตร์จีน ระบุเศรษฐกิจจีนชะลอตัวถึงจุดต่ำสุดแล้ว
  • นายจาง หลี่กุน นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาประจำคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวลงจนถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 58 นี้ สอดคล้องกับความเห็นของนายจาง จุน ผู้เชี่ยวชาญจากไชน่า ฟอร์จูน ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนมักขยายตัวในอัตราต่ำสุดในเดือน มี.ค. นอกจากนี้เศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนยังคงมีเสถียรภาพ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนชะลอลงต่อเนื่อง สะท้อนจาก 1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ในปี 57 ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี ที่ร้อยละ 7.4 ตามการปรับลดลงทั้งจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน และอุปสงค์จากต่างประเทศ 2) เครื่องชี้เศรษฐกิจ จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม หรือ HSBC PMI ในเดือน มี.ค. 58 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.2 จุด จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน และ 3) ในวันที่ 6 มี.ค. 58 ทางการจีนประกาศเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนปี 58 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.0 ซึ่งลดลงจากปี 57 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 58 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 6.7 - 7.7 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 58 และจะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน เม.ย. 58 นี้)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ