รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2015 11:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 เมษายน 2558

Summary:

1. ยอดจองรถยนต์งานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 36 ต่ำกว่าเป้า

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสงกรานต์ปี 58 คนกรุงจับใช้จ่ายสอยสะพัดราว 2.28 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับปีก่อน

3. สหรัฐฯ เผยจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดในมี.ค. 58 ขณะที่การว่างงานทรงตัว

1. ยอดจองรถยนต์งานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 36 ต่ำกว่าเป้า
  • ผู้สื่อข่าวรายงานยอดจองรถยนต์ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 36 ซึ่งจัด12 วันมียอดจองรถรวม(เบื้องต้น) 37,027 คัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะมียอดจอง 40,000 คันโดยปีนี้โตโยต้ายังครองแชมป์ยอดจองสูงสุด 6,144 คัน ขณะที่ยอดผู้เข้าชมงาน1.7ล้านคนเท่ากับปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ยอดจองรถยนต์ในปี 58 นี้ ต่ำกว่าเป้า อาจมีสาเหตุมาจาก ประชาชนมีความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด ทำให้มีการชะลอการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์ออกไปก่อน สะท้อนได้จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เริ่มมีทิศทางขาลง กอปรกับนโยบายรถคันแรกที่มีส่วนให้ประชาชนมีการเร่งซื้อรถยนต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันทางการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงมีส่วนทำให้บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อยอดการจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้มากนัก ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ตั้งแต่ต้นปี 58 พบว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง 2 เดือนแรก มีจำนวน 48,830 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสงกรานต์ปี 58 คนกรุงจับใช้จ่ายสอยสะพัดราว 2.28 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับปีก่อน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ เม็ดเงินสะพัดภายในประเทศสำหรับการจับจ่ายใช้สอยจะอยู่ที่ประมาณ 22,800 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 11,500 ล้านบาท ช็อปปิ้ง (ซื้อของขวัญ/ของฝาก) 4,600 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 3,100 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 3,100 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ดูหนัง/ฟังเพลง ซื้ออุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์ 500 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเครื่องชี้ด้านการบริโภคของไทยที่สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังชะลอตัวอยู่ (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 67.1 จุด) อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคได้พอสมควร เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอย อาทิ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถประหยัดค่าเดินทาง และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ หากเทียบกับปีก่อนที่มีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองประชาชนขาดความมั่นใจที่จะใช้จ่าย แตกต่างจากปีนี้ที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว ทำให้คาดว่าประชาชนจะมีความมั่นใจที่จะจับจ่าย ใช้สอยมากกว่าปีก่อน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคโดยรวมได้พอสมควร ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงในปี 58 จะสามารถขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 - 3.6 (คาดการณ์ ณ ม.ค.58 และ สศค.จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.58)
3. สหรัฐฯ เผยจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดในมี.ค. 58 ขณะที่การว่างงานทรงตัว
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 126,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. 58 จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 248,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 58 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 56 จากระดับ 264,000 ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนมี.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าการการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากอัตราการว่างงานที่ยังคงทรงตัว รวมทั้งหากพิจารณาในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่สำหรับด้านอุปสงค์ยังคงแข็งแกร่งและขยายตัวได้ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ -0.1 จากราคาเครื่องนุ่งห่มและค่าขนส่งที่ติดลบน้อยลง รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 101.3 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.8 จุด โดยเป็นผลมาจากดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อาจต้องติดตามแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ที่อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลกต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ