Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 เมษายน 2558
1. AOT คาดรายได้ปีนี้โตกว่าเป้าร้อยละ 10 หรือมากกว่าร้อยละ15 ตามผู้โดยสารที่เพิ่ม
2. รองนายกรัฐมนตรีคาดส่งออก Q1/58 ติดลบราว 4%
3. ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง และฟื้นตัวไม่เท่าก่อนวิกฤติการเงินโลก
- บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่ารายได้ในปีงบประมาณนี้ (ต.ค.57- ก.ย.58) จะได้เกินกว่าประมาณการที่คาดไว้ โดยเติบโตร้อยละ10 หรือมากกว่าร้อยละ15 จากผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 58 (ม.ค.-มี.ค.58) ที่มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และดีกว่าไตรมาส 1 ปี 58 (ต.ค.-ธ.ค.57) แม้ว่าเครื่องบินเช่าเหมาลำจากประเทศไทยจะถูกสั่งห้ามทำการบิน เนื่องจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้กรมการบินพลเรือนของไทยแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบเพราะสามารถนำเครื่องบินสัญชาติอื่นมาบินได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาในในช่วง ม.ค.-มี.ค. 58 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยจำนวน 7.8 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ต่อปี โดยข้อมูลจากด่านสุวรรณภูมิซึ่งคิดเป็นร้อย 56 ของด่านทั้งหมด ในช่วง 1 -7เม.ย.58 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยทั้งหมด 314,202 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 ต่อปี อย่างไรก็ดี กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวอีก ประมาณ 500,000 คน และยังคงตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 58 ไว้ที่ 28.8 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี
- ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประเมินการขยายตัวด้านการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกปี 2558 จะติดลบราวร้อยละ 4 ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวที่สูงมากนับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 51% ดังนั้น เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ไปไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้ โดยโมเมนตัมของการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นแรงที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ไม่ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกปี 58 หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ (1) สถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าทำให้ความต้องการสินค้าลดลง ประกอบกับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า (2) ราคาสินค้า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหดตัวสูงกระทบสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว และ (3) อัตราแลกเปลี่ยน ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งในส่วนรายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน และการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนม.ค. 58)
- รายงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี ในช่วงปี 2551-2557 เป็นร้อยละ 1.6 ต่อปี ในช่วงปี 2558-2563 แต่ยังนับว่าต่ำกว่าระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี สำหรับตลาดเกิดใหม่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 6.5 ต่อปี ในช่วงปี 2551-2557 เหลือร้อยละ 5.2 ต่อปี ในช่วงปี 2558-2563 หลังจากที่กลุ่มผู้สูงอายุ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนลดลง และผลิตภาพชะลอตัวลง เนื่องจากช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างตลาดเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วเริ่มลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงย่อมจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศ ผู้ส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ สะท้อนได้จากในปี 57 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิของไทยเท่ากับ 886.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จากปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของ GDP โดยในปี 58 สศค. คาดว่า เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 15 ประเทศจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 57 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัวแข็งแกร่งตามการจ้างงานในประเทศที่ฟื้นตัวชัดเจน เศรษฐกิจจีนที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนคาดว่าโดยรวมจะดีขึ้นกว่าปีก่อนจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านต้นทุนการผลิตที่ลดลงในกลุ่มประเทศดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นและยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง จากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 58 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศ จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 - 4.3 ต่อปี)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257