Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 เมษายน 2558
1. ม.หอการค้าไทยปรับลด GDP ปี 58 เหลือร้อยละ 3.2
2. ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในเดือน ก.พ. 58 แซงจีน
3. อัตราการว่างงานออสเตรเลีย เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ลดลงจากเดือนก่อน
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 58 เหลือขยายตัวร้อยละ 3.2 หรืออยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-3.5 ปรับลดจากร้อยละ 3.8 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.0 และปรับลดประมาณการส่งออกเหลือร้อยละ 0.5 หรืออยู่ในช่วงร้อยละ 0.3-0.8 (จากเดิมร้อยละ 3.0-4.0) นอกจากนี้ ได้เผยผลสำรวจผลงานของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ภาคธุรกิจให้คะแนนผลการดำเนินงานด้านการเมืองที่สูงสุดที่ 5.2 คะแนน ส่วนด้านเศรษฐกิจให้คะแนนต่ำสุดที่ 4.5 คะแนน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 58 ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพ ราคาน้ำมันที่ต่ำลงซึ่งจะช่วยในเรื่องต้นทุนการผลิตและการบริโภค และการลงทุนของภาครัฐที่จะช่วยชักนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน (Crowding-in effect) ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ราคาผลผลิตการเกษตรที่ยังคงตกต่ำและภาระหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้เครื่องยนต์ด้านการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 73.5 ของ GDP ปี 57 อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยในกลุ่มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซนยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยโตใกล้เคียงกับศักยภาพที่ประมาณร้อยละ 4.0 ทั้งนี้ สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือน เม.ย. 58 นี้
- ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดอีกครั้ง ในเดือน ก.พ. 58 หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 58 ญี่ปุ่นมียอดถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.2244 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.15 จากเดือนก่อนหน้าที่ยอดถือครองอยู่ที่ 1.2386 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่จีนมียอดถือครอง 1.2237 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.24 จากเดือนก่อนหน้าที่ยอดถือครองอยู่ที่ 1.2391 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การก้าวขึ้นเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดอีกครั้งของญี่ปุ่น เป็นผลมาจากการปรับลดการถือครองพันธบัตรของญี่ปุ่นในอัตราที่ช้ากว่าจีน โดยสาเหตุที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ในปริมาณสูง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ภายในประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ อันเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันเริ่มมีการปรับสัดส่วนการลงทุนหันมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ในขณะที่ทางด้านของจีน ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 57 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง จึงอาจเป็นแรงกดดันให้ทางการจีนมีการถือครองสินทรัพย์ในต่างประเทศลดลง ประกอบกับการมีเงินทุนไหลออกจำนวนมากในช่วงปลายปี 57 จนถึงต้นปี 58 ทำให้มีแรงกดดันเงินหยวนให้อ่อนค่าลง การปรับลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐ จึงอาจเป็นอีก กลยุทธ์หนึ่งของทางการจีนในการประคองค่าเงินหยวนไม่ให้ผันผวนจนเกินไป อย่างไรก็ตาม การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยทางการจีน ส่วนหนึ่งมีการถือครองผ่านคนกลาง จึงทำให้ตัวเลขมูลค่าการถือครองจริงอาจมากกว่าที่ปรากฏในรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียเปิดเผยตัวเลขอัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อน ซึ่งต่างจากตัวเลขผลสำรวจนักวิเคราะห์จัดทำโดยรอยเตอร์ ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราการว่างงานในเดือนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานของออสเตรเลียที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการจ้างงานทั้งแบบเต็มเวลาและแบบไม่เต็มเวลาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงของรายได้ประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อของออสเตรเลียในระยะกลางถึงยาวที่อาจปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนในประเทศของออสเตรเลียเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 54.8 ของ GDP ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่าอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ยังไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดย RBA จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ค. 58 นี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของออสเตรเลียยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของออสเตรเลีย ซึ่งถึงแม้ว่าภาคการส่งออกออสเตรเลียจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก ด้วยสัดส่วนเพียงร้อยละ 21.0 ของ GDP แต่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของออสเตรเลียในปี 58 ได้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257