Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 เมษายน 2558
1. สศก. เผยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมเดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -12.3
2. อัตราการเกิดของไทยลดลง กรมอนามัยเตรียมนำเสนอ ครม. เป็นวาระเร่งด่วน
3. ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีในเดือนมี.ค.ปี 58
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจงภาพรวมดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มี.ค.58 อยู่ที่ระดับ 117.82 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.3 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมอยู่ที่ระดับ136.69 หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -7.6
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.0 หรือคิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่หดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จากสถานการณ์ภัยแล้งและปริมาณน้ำเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำจนต้องระงับการส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 และ 17.0 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 58 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าอัตราการเกิดของไทยในปีที่ผ่านมาลดลงจากเดิมเด็กเกิดใหม่ปีละ 800,000 คน เหลือเพียง 600,000 คน เนื่องจากคนไทยแต่งงานช้าและไม่ยอมมีบุตร นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการหย่าร้างสูง โดย 1 ใน 4 ของคู่แต่งงานจะหย่าร้างกัน ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของอัตราการเกิดของประชากรไทยย่อมทำให้กำลังแรงงานของประเทศลดลง ซึ่งจะกระทบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศมีประชากรประมาณ 65.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนของจำนวนประชากรวัยกำลังแรงงานประมาณ 43.0 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 66.1 ของจำนวนประชากร สำหรับอัตราการเกิดของประชากรไทยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี48 - 57) เฉลี่ยปีละ 794,905 คน ปรับลดลงจากช่วง 10 ปีก่อนหน้า (ปี38 - 47) ถึง 40,487 คน นอกจากนี้ อัตราการเกิดต่อการตายมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจาก 2.6 เท่าในช่วง ปี 38 - 47 ลดลงเหลือ 1.9 เท่าในช่วงปี 48 - 57 ทั้งนี้ หากอัตราการเกิดของประชากรไทย ยังลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการการตายลดลงน้อยกว่าอัตราการเกิด ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น และอาจจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ภาครัฐและภาคเอกชนต้องส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่ลดลง ประกอบกับการส่งเสริมระบบการออมภาคประชาชนแบบสมัครใจ ซึ่งจะช่วยลดภาระของประเทศเพื่อการดูแลสัวสดิการสังคมในอนาคต
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่าญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าเดือน มี.ค.58 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านเยนหรือ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งถือเป็นการเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี โดยยอดส่งออกเดือน มี.ค.58 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ต่อปี ขณะที่ยอดการนำเข้าลดลงร้อยละ 14.5 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลง และเป็นผลบวกต่อญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ เนื่องจากเชื้อเพลิงและพลังงานเป็นสินค้านำเข้าสำคัญของญี่ปุ่น รวมถึงค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมปัจจัยบวกต่อบริษัทส่งออกของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 ที่สำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจQE มาตรการเลื่อนการปรับขึ้นภาษีขายรอบสองออกไป และมาตรการเพิ่มการลงทุนและค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 58 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257