รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 - 24 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2015 11:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มี.ค. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 251.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 52.0
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มี.ค. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มี.ค. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -81.0 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน มี.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP จีน ไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.1
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของยูโรโซน เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators           Forecast    Previous
Mar: MPI (%YOY)         5.0        3.6
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัว สะท้อนจากรายได้รัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศ เดือน มี.ค. 58 ที่มีการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 20.1 รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มการลงทุน นอกจากนี้การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้มีการผลิตเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน มี.ค. 58 ได้ทั้งสิ้น 157.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากปีก่อน และมากกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 10.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 ซึ่งมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากปีก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงเติบโตได้ดี ประกอบกับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของภาคเอกชนที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมในส่วนของใยแก้วนำแสง ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าลดลงร้อยละ -9.5 จากปีก่อน สะท้อนการนำเข้าที่ยังคงชะลอตัว และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ 13.0 จากปีก่อน โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 และ 5.7 จากปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค. 57 - มี.ค. 58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ทั้งสิ้น 974.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร 0.9 พันล้านบาทหรือร้อยละ 0.1
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มี.ค. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 251.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 52.0 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 228.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 60.8 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 190.2 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 47.8 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 38.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 186.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 42.9 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 14.2 พันล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 11.2 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 23.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 58 ในช่วงครึ่งปีแรกปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ 1,324.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย ร้อยละ 51.4 ของวงเงินงปม.
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน มี.ค. 58 มีมูลค่า 58.10 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวจากที่หดตัวในเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.1 ตามการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้ายังคง หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.9 หดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.3 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีปฏิทิน 58 ภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวได้ร้อยละ 1.0 มาจากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มี.ค. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -4.3 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปีแต่เมื่อหักผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -6.7
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มี.ค. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -81.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 2.8 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -78.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -491.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้วทั้งสิ้น 115.4 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมี.ค. 58 มีจำนวน 121.1 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล(%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่หดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จากสถานการณ์ภัยแล้งและปริมาณน้ำเขื่อนในระดับต่ำจนต้องระงับการส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 และ 17.0 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน มี.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกันที่ร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -2.6 และคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามราคายางพารา และราคาข้าวเปลือกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการของโลกที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ สอดคล้องกับราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ในขณะที่ราคาในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงที่หดตัวร้อยละ -9.2 และ -23.0 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัว สะท้อนจากรายได้รัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศ เดือน มี.ค. 58 ที่มีการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 20.1 รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ ในระดับต่ำถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มการลงทุน นอกจากนี้ การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้มีการผลิตเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.5 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าทุกประเภทที่ชะลอตัว ยกเว้นรถยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 กลับมาลดลงที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลง

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มและหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบหดตัว ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 20.3 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ -0.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ -4.6 จุด ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของกรีซที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของยูโรโซนในภาพรวม สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน เม.ย. 58 (เบื้องต้น) ที่อยู่ที่ 53.5 จุด โดยปรับลดลงทั้งดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ที่ 51.9 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการ ที่อยู่ที่ 53.7 จุด

Japan: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 41.6 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -14.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวเกินดุลมูลค่า 2.3 แสนล้านเยน นับเป็นครั่งแรกในรอบกว่า 2 ปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด ปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ชะลอลง

China: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชะลอตัวของทุกภาคส่วน แต่ยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายปี 58 ของทางการจีนที่ร้อยละ 7.0 ราคาบ้าน เดือน มี.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC's Mfg. PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจีน

Australia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปีจากราคาอาหารและค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม จากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อนหน้า

South Korea: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลง จากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง มูลค่าส่งออก (ปรับปรุง) เดือน มี.ค. 58 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่านำเข้า (ปรับปรุง) หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -17.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Taiwan: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อนหน้า

India: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากราคาเชื้อเพลิงและสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 จากสินค้าอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และเชื้อเพลิงที่หดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกันมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -13.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเชื้อเพลิงที่หดตัวต่อเนื่องเช่นกันทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่มากกว่ามูลค่านำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) โดยเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าเกือบทุกหมวดที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐ และกลุ่มสหภาพยุโรปที่ขยายตัวเร่งขึ้น

United Kingdom: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 โดยราคาในหมวดอาหาร ขนส่ง และสันทนาการปรับลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดการศึกษา อาหารและโรงแรม เหล้าและบุหรี่ และค่าเช่าบ้านปรับตัวสูงขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.2 โดยชะลอลงในหมวดเครื่องแต่งกาย และมีการหดตัวในหมวดเชื้อเพลิงรถยนต์ ขณะที่หมวดอื่นๆ ขยายตัวได้ดี

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 23 เม.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,544.84 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 42,527 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่วนหนึ่งจากความกังวลของนักลงทุนประเด็นที่สหภาพยุโรปออกคำเตือนแก่อุตสาหกรรมประมงไทย อีกทั้งนักลงทุนมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคารภายหลังได้รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ไปแล้ว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 23 เม.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,380.4 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-12 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อย จากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงอีกร้อยละ 1 โดยการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 และ 6 เดือน และพันธบัตรรัฐบาล Benchmark อายุ 5 ปี ได้รับความสนใจถึง 2.17 2.66 และ 3.78 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 23 เม.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 5,395.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 23 เม.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.19 จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปตามทิศทางของเงินเยนและเงินหยวน ขณะที่เงินยูโร ริงกิตมาเลเซีย เงินวอนเกาหลี และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.22 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 23 เม.ย. 58 ปิดที่ 1,186.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,199.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ