รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 เมษายน 2558

Summary:

1. ยอดส่งออกรถยนต์เดือนมี.ค. 58 สูงสุดในรอบ 27 ปี

2. พาณิชย์ ปรับลดเป้าการส่งออกปี 58 โต ร้อยละ 1.2

3. GDP อังกฤษ ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

1. ยอดส่งออกรถยนต์เดือนมี.ค.สูงสุดรอบ 27 ปี
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการผลิตรถยนต์ในเดือน มี.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 178,217 คัน ลดลงร้อยละ -1.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 127,619 คัน นับเป็นการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการส่งออกรถยนต์ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา หรือในรอบ 27 ปี จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้นมากในตลาดยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ทำให้คาดว่าการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าปี 58 อยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดส่งออกรถยนต์ในเดือนมี.ค. 58 สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 27 ปี ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากตลาดยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียยังมีความต้องการรถยนต์สำเร็จรูป โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทประหยัดพลังงาน (Eco-Car)ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก 1) รอบของการเปลี่ยนรถยนต์ และ 2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดียอดขายรถยนต์ภายในประเทศยังคงหดตัว เนื่องจาก 1. อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ 2. การเร่งบริโภคสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ไปแล้วในช่วงก่อนหน้า 3. ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมี.ค. 58 ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน และ 4. สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพราะหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/57 ต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 85.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 84.7 ดังนั้น ผู้ส่งออกรถยนต์จึงต้องปรับตัวด้วยการเน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรอให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว
2. พาณิชย์ ปรับลดเป้าการส่งออกปี 58 โต ร้อยละ 1.2
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ ปรับลดเป้าหมายการส่งออกไทยในปี 58 มาอยู่ที่มูลค่า 230,304 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่มีมูลค่า 236,677 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ประกอบกับราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาพรวมการส่งออกไทยเดือนก.พ. และมี.ค.58 ที่หดตัวร้อยละ -6.1 และร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมาจาก 1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน 2) ยอดการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรยังคงหดตัว โดยเฉพาะยางพารา จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า รวมถึงสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง และประกอบกับ 3) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศคู่ค้าของไทย อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าการส่งออกของไทยเดือนมี.ค.58 ล่าสุด เริ่มหดตัวในอัตราชะลอลง จากการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่พบว่าปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มหดตัวในอัตราชะลอลงทั้งนี้ จาก Seensitivity Analysis พบว่า หากเศรษฐกิจโลกชะลอลงร้อยละ 1.0 จะทำให้มูลค่าการส่งออกลดหรือชะลอลงร้อยละ 3.5 ซึ่งส่งผลให้ GDP ลดลงร้อยละ 1.0
3. GDP อังกฤษ ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอังกฤษ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ตามการชะลอตัวของภาคการผลิต การก่อสร้างและภาคเกษตร เป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) แม้ว่าเศรษฐกิจประเทศอังกฤษในไตรมาสที่ 1 ปี 58 จะขยายตัวในอัตราชะลอลง แต่เมื่อพิจารณาในลักษณะอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (%QoQ_SA) แล้วพบว่ายังคงขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.3 และ 2) จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่ายังมีแนวโน้มในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 58.9 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 58 ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ทำให้ สศค. คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 ตามการประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 58 ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกไทยไปอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของการส่งออกรวม ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ