1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะหนึ่งในผู้ว่าการของธนาคารพัฒนาเอเชียของประเทศสมาชิกรวม 67 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 48 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2558 โดยในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ วันที่ 4 พฤษภาคม 2558 เป็นการกล่าวสุนทรพจน์ของนาย Ilham Aliyev ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในฐานะเจ้าภาพ และประธานการประชุมฯ และการกล่าวสุนทรพจน์ของนาย Takehiko Nakao ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีประเด็นสำคัญที่หยิบยก อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของ ADB ที่ต้องมีความยืดหยุ่น สอดคล้อง และตอบสนองเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว และสนับสนุนการพัฒนาประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในการลดความยากจนและพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชียได้มีสุนทรพจน์เผยแพร่ในสื่อเว็บไซต์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งมีเนื้อหาสรุปเกี่ยวกับสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยได้เน้นให้ธนาคารพัฒนาเอเชียมีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะปานกลางและระยะยาวในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนการลงทุนในรูปแบบของการระดมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) รวมถึงเน้นย้ำให้ธนาคารพัฒนาเอเชียส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือและการรวมตัวระดับภูมิภาคต่อไป
อนึ่ง ผู้แทนไทยได้เข้าร่วมประชุมเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประเทศเนปาลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 โดยผู้แทนไทยได้ให้ข้อมูลการให้ความช่วยเหลือของไทยแก่รัฐบาลประเทศเนปาลและประชาชน โดยภาครัฐและเอกชนของไทยได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อระดมเงินทุนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวต่อไป
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 18 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 โดยในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุม
ได้มีการติดตามความคืบหน้าต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เช่น การเตรียมความพร้อมของกลไกป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที หากมีการร้องขอจากประเทศสมาชิก การเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) และความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งเน้นการสร้างตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งสามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดกรอบแผนยุทธศาสตร์ระยะกลางของ AMRO และความสำเร็จในการออกพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นภายใต้โครงการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Multi-Currency Bond Issuance Framework: AMBIF) ที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการเป็นโครงการนำร่องได้เป็นรายแรก โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้อนุมัติการออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทยวงเงิน 3,200 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะสามารถออกตราสารหนี้ดังกล่าวได้ภายในครึ่งปีแรกนี้
สำหรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 49 ซึ่งมีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นเจ้าภาพ และการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 19 ในปี 2559 ซึ่งมี สปป.ลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นประธานร่วม จะจัดขึ้น ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในต้นเดือนพฤษภาคม 2559
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3622, 3681
--กระทรวงการคลัง--