Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2558
Summary:
1. ยอดขายรถจักรยานยนต์ เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -18.4
2. ไทยจีนร่วมผลักดันสินค้าเกษตร
3. มาเลเซียเผยผลผลิตอุตสาหกรรมพุ่งร้อยละ 6.9
1. ยอดขายรถจักรยานยนต์ เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -18.4
- กรมการขนส่งทางบก เผยยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ประจำเดือน เม.ย. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 114,107 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -18.4 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน เม.ย. 58 ที่หดตัวร้อยละ -18.4 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -31.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวได้ร้อยละ 18.1 ซึ่งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนนี้ หดตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตชนบท โดยหดตัวร้อยละ -13.1 และ -19.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -15.2 และ -31.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ เนื่องมาจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนมี.ค. 58 ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -18.3 กอปรกับการเร่งทำยอดขายของผู้ประกอบการในเดือนก่อนหน้า ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถจักรยานยนต์ลง
2. ไทยจีนร่วมผลักดันสินค้าเกษตร
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 58 โดยมีการทำสัญญาตกลงซื้อขายตาม MOU ซึ่งประกอบสินค้าข้าว 2 ล้านตัน (ข้าวฤดูใหม่ 1 ล้านตัน และข้าวในสต๊อกรัฐ 1 ล้านตัน) และยางพารา 2 แสนตัน ทั้งนี้ การประชุมครั้งที่ 3 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค. 58 ที่จังหวัดนครราชสีมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ไทยร่วมมือกับจีนทำสัญญาตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรตาม MOU จะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นการระบายสินค้าและดึงราคาสินค้าเกษตรได้อีกด้วย ซึ่งจากข้อตกลงดังกล่าว ประกอบไปด้วยยางพาราและข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักที่ไทยส่งออก (สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของยางพาราและข้าวคิดเป็นร้อยละ 12.5 ของมูลค่าการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด) ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้ง 2 ชนิด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 58 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะยางพารามีมูลค่าการส่งออกเพียง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นการหดตัวร้อยละ -36.1 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวอยู่ที่ 1,102 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากข้อตกลง MOU บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ จะทำให้สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยดีขึ้นได้
3. มาเลเซียเผยผลผลิตอุตสาหกรรมพุ่งร้อยละ 6.9
- ทางการมาเลเซียรายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นมาตรวัดการผลิตจากภาคเหมืองแร่ พลังงาน และโรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ในเดือนมี.ค. 58 เทียบรายปี ซึ่งเหนือกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ เมื่อเทียบเป็นรายเดือนแล้ว ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนถึงภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค. 58 ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 2.3 จากการหดตัวร้อยละ -9.7 ในเดือนก่อนหน้า และภาคการผลิตของมาเลเซียยังมีบทบาทสำคัญที่ระบบเศรษฐกิจรองจากภาคบริการ โดยคิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP ปี 2557 นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.9 ก็ยังคงอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับการบริโภคภายในประเทศ โดย สศค. คาดว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวอาจส่งผลให้ GDP ไตรมาสที่ 1/58 ขยายตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.8
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257