รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 19, 2015 10:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยที่ร้อยละ 3.0-4.0 แม้ไตรมาสแรกโตร้อยละ 3.0

2. สศก. ระบุผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลงดึงราคาปรับตัวขึ้น

3. ญี่ปุ่นเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9

1.สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยที่ร้อยละ 3.0-4.0 แม้ไตรมาสแรกโตร้อยละ 3.0
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/57 เนื่องจากการบริโภคเอกชนดีขึ้นต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูงขึ้นตามการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 58 เหลือโตร้อยละ 3.0-4.0 จากเดิมคาดร้อยละ 3.5-4.5 เนื่องจากคาดว่าส่งออกน่าจะขยายได้ตัวได้เพียงร้อยละ 0.2 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้มีโอกาสหดตัวถึงขยายตัวในช่วงร้อยละ -0.3 ถึง +0.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสของปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 (%yoy) ดีขึ้นจาก ไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 หากพิจารณาด้านการผลิตพบว่าขยายตัวมาจากสาขาอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม และค้าส่งค้าปลีก ในขณะที่ด้านใช้จ่ายพบว่า ขยายตัวมาจากการลงทุนภาครัฐ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะขยายได้ร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2) ได้รับแรงกระตุ้นหลักจากภาคคลังและแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5 - 11.5) และการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 - 4.8) อันเป็นผลมาจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 58 ประกอบกับโครงการลงทุนที่มีความชัดเจน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง จะเป็นแรงกระตุ้นให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้
2. สศก. ระบุผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลงดึงราคาปรับตัวขึ้น
  • นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พบว่า ภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จะส่งผลทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเริ่มออกสู่ตลาดลดลงตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป โดยผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ถ้าฝนยังตกอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดทั้งหมดในปี 2558 มีโอกาสเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 57 โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า ดัชนีผลผลิตปาล์มน้ำมันไตรมาสแรก ปี 58 หดตัวร้อยละ -31.0 เนื่องจากสถานการณ์ ฝนทิ้งช่วงในเดือน ม.ค. - ก.พ. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. เป็นต้นมา ซึ่งอาจส่งผลให้ในช่วงปลายปี 58 มีผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีราคาปาล์มน้ำมันในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกเริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยปรับเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 19.61 บาทในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 21.01 บาท ในกลางเดือน พ.ค. โดยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในผู้ผลิตหลัก เช่น มาเลเซีย มีแนวโน้มลดลง
3. ญี่ปุ่นเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนในเดือนมี.ค. ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 8.694 แสนล้านเยนทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักร ซึ่งไม่นับรวมเครื่องจักรสำหรับเรือและด้านสาธารณูปโภคที่มีความผันผวนนั้น ถือเป็นปัจจัยบ่งชี้การใช้จ่ายด้านทุนในอนาคตของบริษัทเอกชน ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรจากภาคการผลิต ขยับขึ้นร้อยละ 0.3 สู่ระดับ 3.638 แสนล้านเยน ขณะที่ยอดสั่งซื้อจากอุตสาหกรรมนอกภาคการผลิต ปรับขึ้นร้อยละ 4.7 แตะที่ 4.978 แสนล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับสูง โดยมูลค่าการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้กิจกรรมภาคการผลิตขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยการเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานนั้นสะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่กำลังเริ่มขยายตัว และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 1 ปี 58 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ระดับ 51.4 จุด นอกจากนี้ ผลจากค่าเงินเยนที่อ่อนประกอบกับมาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นที่ให้แก่นักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในไตรมาสดังกล่าวขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับเสถียรภาพยังอยู่ในระดับดี สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ไตรมาส 1 ปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม และอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ทั้งนี้สศค.คาดว่า GDP ญี่ปุ่นใน ไตรมาสที่ 1/58 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.8

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ