รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2558 และผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประจำเดือน มี.ค. 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 19, 2015 14:00 —กระทรวงการคลัง

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดังนี้

1. รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มีนาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,730,519.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.33 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 10,093.66 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีการเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับปรุงวิธีการคำนวณ GDP และปรับประมาณการในปี 2558 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 23,846.11 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 16,102.76 ล้านบาท
  • การเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลังเพื่อบริหารดุลเงินสด จำนวน 5,000 ล้านบาท
  • การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 2,398.08 ล้านบาท ประกอบด้วย การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 1,956.08 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 442 ล้านบาท
  • การเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 200 ล้านบาท
  • การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม
2558 จำนวน 9,014 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 5,000 ล้านบาท

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 9,195.48 ล้านบาท ซึ่งในเดือนมีนาคม 2558 มีการเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อลงทุนในโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักของการประปานครหลวง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 3,334.90 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หนี้หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,222.07 ล้านบาท เนื่องจากการชำระหนี้เงินต้นของกองทุนอ้อยและน้ำตาล สำนักงานธนานุเคราะห์ และมหาวิทยาลัยพะเยา

การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนมากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน

หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 5,730,519.23 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,388,803.31 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 94.04 และหนี้ต่างประเทศ 341,715.92 ล้านบาท (ประมาณ 10,385.37 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 5.96 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และ หากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 157,370.68 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (ข้อมูล ณ 27 มีนาคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.60 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ

โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,570,643.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.21 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 159,875.30 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.79

2. รายงานผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประจำเดือนมีนาคม 2558

สบน. มีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงินรวม 90,805.83 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล จำนวน 62,995.76 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 27,810.07 ล้านบาท

การบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 62,995.76 ล้านบาท ประกอบด้วย

ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล จำนวน 18,167.89 ล้านบาท

  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 16,102.76 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 2 รุ่น จำนวน 15,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.53 ต่อปี และพันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 1,102.76 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 200 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 15,393 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศฯ
  • การเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อ จำนวน 1,423.13 ล้านบาท
  • การเบิกจ่ายเงินกู้ จำนวน 442 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินบาททดแทนเงินกู้จากธนาคารโลก เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 วงเงิน 2,500 ล้านบาท

การเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศของรัฐบาล จำนวน 607.07 ล้านบาท ประกอบด้วยการเบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย จำนวน 74.12 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องการจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง และการเบิกจ่ายเงินกู้จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น จำนวน 532.95 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาล จำนวน 23,014 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ปรับโครงสร้างหนี้สัญญาเงินกู้ระยะสั้น ที่ออกภายใต้ พ.ร.ก ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 14,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลทั้งจำนวน
  • การปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้า สำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 การออก R-bill จำนวน 9,014 ล้านบาท

การชำระหนี้ของรัฐบาล จำนวน 21,206.80 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • การชำระหนี้โดยใช้เงินจากงบประมาณ จำนวน 11,297.65 ล้านบาท แบ่งเป็น ชำระต้นเงิน 3,000 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 8,297.65 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 8,970.22 ล้านบาท โดยใช้เงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับจากธนาคารพาณิชย์ภายใต้ พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ FIDF ฯ แบ่งเป็น ชำระต้นเงิน 5,000 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ย 3,970.22 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ของเงินกู้ให้กู้ต่อของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 938.93 ล้านบาท

โดยใช้เงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย

การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 27,810.07 ล้านบาท ประกอบด้วย

การกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2,900 ล้านบาท แบ่งเป็น การออกพันธบัตรที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 2,000 ล้านบาท และการทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ซึ่งกระทรวงการคลังค้ำประกันของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 900 ล้านบาท

การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 110.07 ล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของการประปานครหลวง 90.03 ล้านบาท และการเบิกจ่ายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 20.04 ล้านบาท

การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ ในเดือนมีนาคม 2558 รัฐวิสาหกิจได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ โดยการขยายอายุสัญญาเงินกู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงินรวม 24,800 ล้านบาท

คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505,5522,5903

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ