Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
1. ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs มีทิศทางทรงตัว
2. กสิกรคาด คนไทยเที่ยวไทยไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.6
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 49.1 จุด
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs (SMEs Competitiveness Index) ไตรมาสที่ 1 ปี 58 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ระดับ 50.5 จุด บ่งชี้แนวโน้มความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ที่มีทิศทางชะลอตัวเล็กน้อย โดยดัชนีฯ ที่ปรับลดลงสะท้อนความเห็นของผู้ประกอบการว่าเป็นผลจากยอดขายสินค้าที่ชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ดังกล่าวที่ชะลอลงเล็กน้อย สะท้อนแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของ SMEs ที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง กล่าวคือ SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนการลงทุนเพิ่มเติมและบางส่วนพบอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงถึง 2 ครั้งตั้งแต่ต้นปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม ส่งผลถึงต้นทุนทางการเงินที่จะปรับลดลง อีกทั้งภาครัฐให้ความสำคัญกับ SMEs โดยตั้งเป็นวาระแห่งชาติ และมีมาตรการช่วยเหลือ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของ SMEs และมาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐบาลชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs ในปีแรก เป็นต้น นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(จัดเก็บบนฐานการบริโภคในประเทศ) ณ ราคาคงที่ เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวถึงร้อยละ 12.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 58 ต่อไป
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์คนไทยที่ท่องเที่ยวภายในประเทศในไตรมาส 2 ปี 58 อาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 35.1 ล้านคนต่อครั้ง และเป็นผลดีต่อการขยายตัวในภาคธุรกิจบริการและการบริโภคภายในประเทศ กอปรกับมีแรงสนับสนุนจากช่วงหยุดยาวและปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศในไตรมาสดังกล่าวขยายตัวได้ดี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดังกล่าวที่คาดว่าจะขยายตัวดี บ่งชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจภาคบริการในช่วงไตรมาส 2 ปี 58 สอดคล้องกับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 2 ปี 58 ที่ขยายตัวจากแรงขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก อาทิ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน เม.ย. 58 ที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกันภาคการลงทุนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย. 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น กอปรกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งวันหยุดยาวในไตรมาสดังกล่าว จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องและภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งมีอุปสงค์ในประเทศเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ
- HSBC/Markit เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) ของจีนเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาเร็วๆ นี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ดังกล่าว อยู่ต่ำกว่าระดับฐานที่ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ยังคงซบเซา โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดของดัชนีฯ พบว่า คำสั่งซื้อใหม่ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศที่กลับมาลดลงอีกครั้ง หลังจากขยายตัวในระดับต่ำในเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าต่อสินค้าส่งออกภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งค่าเงินเยนและยูโรที่อ่อนค่าลงมากตั้งแต่ปลายปี57 ที่ผ่านมา มีส่วนทำให้อุปสงค์สินค้าส่งออกจีนจาก 2 เศรษฐกิจหลักนี้ลดลง โดยจีนส่งออกไปยังญี่ปุ่นและยูโรโซนรวมแล้วถึงร้อยละ 17.3 ของมูลค่าส่งออกรวม นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มไม่สดใสนัก ส่งผลให้มีการปรับลดกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจีน สะท้อนจากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ทังนี้ แรงกดดันด้านราคาที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยทางการจีนมีความเป็นไปได้ เนื่องจากไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อเข้ามาเป็นข้อจำกัด
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257