Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2558
Summary:
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -5.3
2. เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.2
3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.0
1.ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -5.3
- รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 147.89 จุด คิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม สศอ. จะคงเป้าหมายการเติบโตของดัชนี MPI สำหรับปี 58 ไว้ที่ร้อยละ 3.0-4.0 และเป้าหมาย GDP ภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 2.0-3.0 โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 58 จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ที่หดตัวร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ -1.8 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการหดตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในหมวดการผลิตเพื่อเน้นการส่งออก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โทรทัศน์ เครื่องประดับและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวร้อยละ -26.3 เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง การผลิตโทรทัศน์หดตัวร้อยละ -87.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับจำกัด ส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตาม ทำให้การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมหดตัวร้อยละ -21.4 อย่างไรก็ตาม ยังมีอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ขยายตัวร้อยละ 11.8 เนื่องจากอุปสงค์ต่ออุปกรณ์สื่อสารในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าอุปกรณ์สื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น
2. เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.2
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์เปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 58 โดยขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ในอัตราชะลอลงมาก โดยมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสที่ 4 ปี 57 โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าเป็นผลจากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญคือ ญี่ปุ่น (คู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 สัดส่วนร้อยละ 22.5 ของการส่งออกรวมในปี 57) และจีน (คู่ค้าลำดับที่ 3 สัดส่วนร้อยละ 13.0) ที่หดตัวในอัตราสูง ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 58 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยเร่งขึ้นจากปี 57 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.1 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58)
3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.0
- ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าในทุกหมวดที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้น อาทิ สินค้าหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าทั่วไป และยานยนต์ ที่ขยายตัวร้อยละ 11.0, 9.9 และ 8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ ยอดขายสินค้าหมวดน้ำมันยังหดตัวจากราคาที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขยอดค้าปลีกญี่ปุ่นที่ ปรับตัวดีขึ้น เป็นไปในทิศทางสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของชาวญี่ปุ่นต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 41.6 จุด ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศช่วงไตรมาส 2 ปี 58 มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ดีดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำช่วงปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงเวลานี้ของปีก่อนทั้งนี้ สัญญาณเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในระดับสูงจากการอ่อนค่าของเงินเยน โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้กิจกรรมภาคการผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ในเดือน เม.ย. - พ.ค. 58 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
- ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 58 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยเร่งขึ้นจากปี ก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257