รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 29, 2015 14:00 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน เม.ย. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 191.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.2
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -45.0 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 23,470 คัน หรือ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -24.7
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 30,588 คัน หรือหดตัวร้อยละ -27.3
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -0.2
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน เม.ย. 58 หดตัวที่ร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 86.2
  • การส่งออกในเดือน เม.ย. 58 มีมูลค่า 16,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.7
  • การนำเข้าในเดือน เม.ย. 58 มีมูลค่า 17,423.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.8
  • GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 5.2
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.6
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.4

Indicator next week

Indicators              Forecast    Previous
Apr: Inflation (%YOY)     -1.2       -1.0
  • เป็นการติดลบอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือน พ.ค. ถึง ส.ค. 58 เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในแดนลบ ขณะที่ราคาสินค้าประเภทอื่น ค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (%mom _ sa) โดยเป็นการเร่งขึ้นจากการปรับเพิ่มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญ
Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนเม.ย. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 191.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 178.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 156.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 22.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 17.5 พันล้านบาท และรายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 12.6 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 12.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -21.8 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 58 ในช่วง 7 เดือนแรกปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ 1,503.0 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 58.4 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -45.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 7.5 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -37.5.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -533.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 รัฐบาลได้กู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้วทั้งสิ้น 157.4 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเม.ย. 58 มีจำนวน 125.5 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 23,470 คัน หรือ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -24.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัว ร้อยละ -13.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 30,588 คัน หรือหดตัวร้อยละ -27.3 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -10.9 ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันในเดือน เม.ย.58 ที่ยังคงหดตัวเช่นกัน โดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 22,606 คัน หรือหดตัวที่ร้อยละ -34.3 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -12.9 ต่อเดือน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -9.7 ต่อเดือน ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน เม.ย. 58 หดตัว ที่ร้อยละ -5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอาหาร เป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.1
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการบริโภค และการใช้จ่ายโดยเฉพาะภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนี ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของการดำเนินกิจการ
  • การส่งออกในเดือน เม.ย. 58 มีมูลค่า 16,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -4.5 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวร้อยละ -5.4 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.8 ตามการหดตัวของยางพารา และ ข้าว เป็นสำคัญ และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -0.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการหดตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ร้อยละ -1.5 อย่างไรก็ดี สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 7.0 และ 7.3 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.0 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.9 และปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.2
  • การนำเข้าในเดือน เม.ย. 58 มีมูลค่า 17,423.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.8 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.9 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -26.2 และสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -4.8 รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -0.2 ในขณะที่สินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 และยานยนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.5 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -10.2 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 จากการที่มูลค่าการส่งออกต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน เม.ย. 58 ขาดดุล -0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 58 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ -1.2 เป็นการติดลบอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือน พ.ค. ถึง ส.ค. 58 เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในแดนลบ ขณะที่ราคาสินค้าประเภทอื่นค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (%mom _sa) โดยเป็นการเร่งขึ้นจากการปรับเพิ่มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญ

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 95.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ผลจากผู้บริโภคคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันโดยเฉพาะตลาดแรงงานดีกว่าเดือนก่อน โดยดัชนีฯ คาดการณ์ในปัจจุบันเพิ่มขึ้น 3 จุดมาที่ 108.1 จุด ขณะที่ผู้บริโภคกังวลว่ารายได้ภาคครัวเรือนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวลดลง ทำให้ดัชนีฯ คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าลดลง 0.2 จุดมาอยู่ที่ 86.9 จุด ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดคำสั่งซื้อเครื่องมือด้านการขนส่ง (สัดส่วนร้อยละ 33.5 ของยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนทั้งหมด) ที่กลับมาหดตัว ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาบ้านในภาค Midwest ที่ลดลง ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ 517,000 หลัง หรือขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายภาคใต้และ Midwest ที่เพิ่มขึ้น

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ -5.5 จุด ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ-4.6 จุด บ่งชี้ถึงความกังวลของผู้บริโภคในยูโรโซน หลังจากประเด็นเรื่องการเจรจาหนี้ของกรีซยืดเยื้อ

Japan: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และเอเชียที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในหมวดน้ำมันและเชื้อเพลิงธรรมชาติที่หดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลทางด้านราคาที่อยู่ในระดับต่ำทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลงส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวกลับมาขาดดุลมูลค่า -53.4 พันล้านเยน ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดน้ำมัน โดยการกลับมาขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฐานในปีก่อนซึ่งมีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนดังกล่าวเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงมากจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนผลจากปัจจัยฐานดังกล่าวที่หมดลง อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 58 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 หดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตหมวดชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง

Phillippines: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดทางฤดูกาลแล้ว) ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ผลจากภาคการส่งออกชะลอตัวลงมาก โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.8 มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อันเป็นผลจากปัจจัยราคา ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยการส่งออกที่กลับมาขยายตัว ขณะที่การนำเข้าที่กลับมาหดตัว ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 58 กลับมาเกินดุล 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากกิจกรรมการผลิตในภาคบริการ อาทิ การเงินและการประกันภัย สารสนเทศและโทรคมนาคม และค้าปลีกค้าส่ง ที่ขยายตัวดี อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาบ้านและค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง

Taiwan: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (2 nd est) ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกชะลอลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ขยายตัว ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 15 เดือน

South Korea: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าทั้งหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่หดตัวเร่งขึ้น

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้จึงทำให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 58 ขาดดุลลดลงที่ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากที่ขาดดุล 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนก่อนหน้า

Vietnam: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 17.5 ในเดือนก่อน ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 ขาดดุล 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.0 ในเดือนก่อน และ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนในกรอบแคบใกล้เคียงกับระดับ 1,500 จุด โดย ณ วันที่ 28 พ.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,494 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 30,249.7 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากความกังวลในประเด็นการเจรจาหนี้ของกรีซที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ และความกังวลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ภายหลังจากที่นางเยเลน ประธาน Fed ให้สัมภาษณ์ว่ามีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ครั้งแรกในปี 58 นี้แน่นอน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิเพียง 565.1 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นกลาง ช่วงอายุต่ำกว่า 10 ปีปรับตัวลดลง 1-5 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและ นักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยพันธบัตร ธปท. รุ่น 3 เดือนและ 6 เดือนได้รับความสนใจจาก นักลงทุนมากถึง 4.72 และ 4.93 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 791.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 28 พ.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.0 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดยแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.05 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ