รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2015 10:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2558

Summary:

1. เวิลด์แบงก์คาดส่งออกของไทยปี 58 ขยายตัวร้อยละ 0.5 และ GDP ขยายตัวร้อยละ 3.5

2. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตั้งอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ

3. ธนาคารกลางจีนจัดสรรเงินกู้แบบ PSL และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 ต่อปี

1. เวิลด์แบงก์คาดส่งออกของไทยปี 58 ขยายตัวร้อยละ 0.5 และ GDP ขยายตัวร้อยละ 3.5
  • นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย ประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 58 เติบโตที่ร้อยละ 0.5 ส่วนการนำเข้าจะหดตัวร้อยละ -2.0 โดยมองว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งแรก พร้อมกันนี้ ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือน ปี 58 หดตัวร้อยละ -4.0 ต่อปี โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยในปัจจุบันที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดโลก โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวลดลงในช่วง 4 เดือน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม และแร่และเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดการส่งออกของไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง 2.2) ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2) จากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 58 ประกอบกับโครงการลงทุนที่มีความชัดเจน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
2. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตั้งอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ เพื่อเสนอแนะแนวทางการตลาด และการประชาสัมพันธ์โดยมีเป้าหมายเชิญชวนนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การค้าและการลงทุนบริเวณชายแดนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากในปี 57 มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเท่ากับ 987.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.7 ของมูลค่าการค้าของไทยกับโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.5 ของมูลค่าการค้าของไทยกับโลก จากปี 54 ดังนั้น การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการค้าและลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และเป็นการกระจายตลาดส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในกรณีที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นชะลอตัว ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา หนองคาย เชียงราย นราธิวาส นครพนม และกาญจนบุรี ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการทางภาษีอากรผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น การที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตั้งอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย
3. ธนาคารกลางจีนจัดสรรเงินกู้แบบ PSL และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 ต่อปี
  • ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 ธนาคารกลางได้จัดสรรเงินกู้แบบ Pledged Supplementary Lending (PSL) วงเงิน 2.63 แสนล้านหยวน (4.29 หมื่นล้านดอลลาร์) ให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยยอดเงินกู้แบบ PSL ที่ค้างชำระมีจำนวน 6.46 แสนล้านหยวน ณ สิ้นเดือน พ.ค. อีกทั้งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ PSL ลงสู่ระดับร้อยละ 3.1 จากเดิมที่ร้อยละ 4.5 เพื่อสนับสนุนโครงการฟื้นฟูต่างๆ และเพื่อลดค่าใช้จ่าย ด้านการลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 โดยเศรษฐกิจจีนชะลอลงตามการลงทุน เป็นสำคัญ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับต่ำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางจีนดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการ PSL มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ธนาคารกลางจีนกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ระยะกลางได้ดีขึ้น และเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง โดยการเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินที่ได้รับคัดเลือก ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ จะได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58 ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ