รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 8, 2015 13:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2558

Summary:

1. หม่อมอุ๋ยขอเวลา 1 เดือนดันราคาข้าวเพิ่มขึ้นพันบาทต่อตัน

2. จีนเผยยอดส่งออกเดือน พ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ราคาน้ำมันร่วงหลังอิหร่านขยับเป้าส่งออก

1. หม่อมอุ๋ยขอเวลา 1 เดือนดันราคาข้าวเพิ่มขึ้นพันบาทต่อตัน
  • รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยมีสต๊อกข้าวสารอยู่ 17 ล้านตัน เป็นที่รับรู้ของตลาดโลกจึงเป็นตัวกดราคา เพราะข้าวสารที่ขายกันระหว่างประเทศมีประมาณ 38 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลคือทำอย่างไรให้ข้าวสารในสต๊อก 17 ล้านตันหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของพ่อค้าข้าว ซึ่งขณะนี้ รมว.พาณิชย์ ได้พิจารณาแล้ว พบว่าเป็นข้าวดีที่สามารถขายได้ประมาณ 4 ล้านตันกว่า ซึ่งส่วนนี้จะเริ่มหาจังหวะขายออกไป ขณะที่ข้าวสารที่ยังเหลืออีก 12 ล้านตันกว่า ในจำนวนนี้ 2 ล้านตัน เป็นข้าวที่เน่าแล้ว ส่วนอีก 10 ล้านตันกว่า จะเป็นประเภทเริ่มเสีย โดยอาจนำข้าวจำนวนนี้ไปทำแอลกอฮอล์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ราคาข้าวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีราคาตกต่ำต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก โดยในช่วง 5 เดือนแรก ราคาเกือบทุกประเภทมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิไทยชั้น 2 (ใหม่) มีราคาลดลงเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกร้อยละ -3.0 เช่นเดียวกันกับข้าวขาว 5% ที่ราคาลดลงร้อยละ -3.8 ส่วนข้าวนึ่ง 100% มีราคาลดลงถึงร้อยละ -6.1 โดยการลดลงของราคาข้าวในตลาดโลกมีสาเหตุหลักจากการแข่งขันอย่างเข้มข้นด้านราคาของประเทศผู้ส่งออกข้าว และปริมาณข้าวในตลาดโลกมีสูง ประกอบกับความต้องการบริโภคข้าวน้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ (ข้อมูลจาก FAO Rice Market Monitor, April 2015) ซึ่งราคาข้าวที่ลดลงย่อมส่งผลถึงรายได้ชาวนา ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรอื่นๆ ก็ยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้
2. จีนเผยยอดส่งออกเดือน พ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ทางการจีน เปิดเผยการส่งออกในเดือนพ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.5 ในขณะที่การนำเข้ายังยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -18.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -16.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ภาคการส่งออกของจีนยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 58 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 นอกจากนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจาก 1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และ 2) ราคาบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีน ในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ประมาณการ ณเดือน เม.ย.58
3. ราคาน้ำมันร่วงหลังอิหร่านขยับเป้าส่งออก
  • อิหร่านหนึ่งในประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ได้ออกมาประกาศว่าอาจมีการปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกน้ำมันดิบของตนเองเป็นเท่าตัวภายใน 6 เดือนหลังจากมีการยกเลิกการคว่ำบาตรจากกรณีของการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่ม OPEC ได้มีมติเมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมาที่จะคงเป้ากำลังการผลิตไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่ากับการประชุมครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือน พ.ย. 57 ส่งผลให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ ส่งมอบเดือน ก.ค. ในตลาดนิวยอร์คปรับลดลงร้อยละ 0.9 และปรับลดลงร้อยละ 0.8 ในตลาดลอนดอน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC เป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วแต่การออกมาประกาศท่าทีของอิหร่านเป็นปัจจัยใหม่ที่เข้ามากำหนดราคาอย่างน้อยในระยะสั้น โดยนักวิเคราะห์ยังไม่สามารถที่จะคาดเดาว่าเป้าหมายการส่งออกของอิหร่านจะเกิดขึ้นจริงเป็นจำนวนเท่าใด แต่ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อความรู้สึกของตลาดในระยะสั้นทำให้การฟื้นตัวของราคาน้ำมันมีข้อจำกัดเพิ่มเติม นอกจากนี้ จากข้อมูลการผลิตน้ำมันดิบในเดือนที่ผ่านมาของกลุ่ม OPEC พบว่ามีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 31.58 ล้านบาร์เรลต่อวันสูงกว่าเป้าหมายการผลิตที่ตั้งไว้ ถือเป็นการผลิตที่สูงกว่าเป้าหมายเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน นักวิเคราะห์จาก Barclays คาดว่าหาก OPEC ยังคงผลิตในระดับดังกล่าว อุปทานส่วนเกินของโลกจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ทางฝั่งผู้ผลิตในอเมริกาก็ยังคงผลิตน้ำมันดิบออกมาสูงเป็นสถิติใหม่ โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. 58 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันได้ที่ราว 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 32 ปี และยังสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากที่สุดในรอบ 95 ปีอีกด้วย จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา สศค. จึงมองว่า แม้ราคาน้ำมันจะมีการปรับเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 34 จากจุดต่ำสุดในเดือน ม.ค. 58 แต่ความเป็นไปได้ของการที่ราคาน้ำมันจะฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ