Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2558
Summary:
1. แรงงาน ยันไม่มีมติยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ
2. ญี่ปุ่นเผยจำนวนบริษัทล้มละลายในเดือน พ.ค. 58 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี
3. มูดีส์คาดยอดขายอสังหาริมทรัพย์จีนขยายตัวปานกลางใน 12 เดือนข้างหน้า
1. แรงงาน ยันไม่มีมติยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ
- นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าไม่มีมติยกเลิกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่วนในปี 59 ค่าจ้างขั้นต่ำจะคงใช้ฐาน 300 บาทเป็นเกณฑ์ ไม่มีต่ำกว่านี้ ส่วนในแต่ละจังหวัด จะเป็นอัตราเท่าไรอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
- สศค. วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาถึงนโยบายการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากหากมองในแง่ของแรงงานจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความกินดีอยู่ดี ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในแง่ของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 56 ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีการปรับตัวไปแล้วในช่วงเวลานั้น ดังนั้น การคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการยังคงดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการจ้างงานของไทยในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากอัตราการว่างเดือน เม.ย. 58 ที่ยังคงในอยู่ระดับต่ำที่ร้อย 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
2. ญี่ปุ่นเผยจำนวนบริษัทล้มละลายในเดือน พ.ค. 58 ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี
- โตเกียว โชโก รีเสิร์ช ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านสินเชื่อของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จำนวนบริษัทล้มละลายในญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 13.2 ในเดือนพ.ค. 58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 724 แห่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี ซึ่งหนี้สินของบริษัทที่ล้มละลายในเดือน พ.ค. ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 127,755 ล้านเยน (1,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนบริษัทล้มละลายที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี บ่งชี้ถึงภาวะการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.9 จาก 49.9 จุดในเดือนก่อนหน้า แสดงถึงกิจกรรมภาคการผลิตที่ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง รวมทั้งยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และเอเชียที่ขยายตัวเร่งขึ้นจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ GDP ไตรมาส 2/58 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า
3. มูดีส์คาดยอดขายอสังหาริมทรัพย์จีนขยายตัวปานกลางใน 12 เดือนข้างหน้า
- มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เผยในรายงานฉบับล่าสุดว่า มูลค่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศจีนจะขยายตัวถึงร้อยละ 5 ต่อปีในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 7.8 ในปี 57 จากอานิสงส์นโยบายการเงินและกำกับดูแลเชิงผ่อนคลาย ที่จีนเริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 57 นอกจากนี้ อัตรากันสำรองของธนาคารพาณิชย์จีนที่ลดลงนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 นั้น จะช่วยเพิ่มความสามารถของธนาคารพาณิชย์จีนในการปล่อยกู้ผู้ซื้อบ้านและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายอสังหาริมทรัพย์จีนในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีแนววโน้มจะขยายตัวได้จริง สะท้อนราคาบ้านใหม่ในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสินเจิ้น พบว่าเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แสดงถึงทิศทางของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างดีขึ้น นอกจากนี้ สภาพคล่องในตลาดที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง และการที่รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งมีการผ่อนคลายข้อกำหนดการซื้อบ้าน เช่น ประกาศลดเงินดาวน์เพื่อที่อยู่อาศัย และปรับค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่อยู่อาศัยมือ 2 ลง จะสามารถเป็นปัจจัยบวกสำคัญในการกระตุ้นยอดขายอสังหาริมทรัพย์ได้
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257