รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2015 11:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2558

Summary:

1. แล้งหนักสุดรอบ 30 ปี นาข้าว 4 ล้านไร่ไร้น้ำ สูญ 1.5 หมื่นล้าน

2. กสิกรไทยระบุดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเดือนพ.ค.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

3. ญี่ปุ่นเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค. 58 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 41.4

1. แล้งหนักสุดรอบ 30 ปี นาข้าว 4 ล้านไร่ไร้น้ำ สูญ 1.5 หมื่นล้าน
  • เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยในกรณีปริมาณน้ำฝนในเขื่อนต่ำสุดในรอบ 30 ปี อาจส่งกระทบต่อชาวนาลุ่มเจ้าพระยาในเขตพื้นที่ชลประทานปลูกข้าวนาปีไปแล้วประมาณ 2.8 ล้านไร่ และมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกประมาณ 4.2 ล้านไร่ (ตามแผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน 7 ล้านไร่) ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวหายไปประมาณ 2.1 ล้านตัน โดยคิดเฉลี่ยจากผลผลิตต่อไร่ข้าวนาปีลุ่มเจ้าพระยา 500 กก.ต่อไร่ และคิดเป็นมูลค่าข้าวที่หายไปประมาณ 15,750 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในปี 58 เศรษฐกิจภาคเกษตรยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง สะท้อนดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน เม.ย.58 หดตัวที่ร้อยละ -13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญโดยเฉพาะข้าวเปลือก โดยหดตัวที่ร้อยละ -37.3 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -36.4 ดังนั้นจากที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำสุด จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวรุนแรงขึ้น โดย สศก. คาดการณ์ผลผลิตภาคเกษตรในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ (-1.8) - (-0.8) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปี 58 ต่อไป เนื่องจากประมาณร้อยละ 35 ของแรงงานรวมอยู่ในภาคเกษตร ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ประมาณการ ณ เดือนเม.ย.58
2. กสิกรไทยระบุดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเดือนพ.ค.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนพ.ค. 58 อยู่ที่ 45.0 จาก 45.8 ในเดือนเม.ย.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ที่สะท้อนมุมมองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) อยู่ที่ 46.2 โดยปรับตัวลงมาแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนด้วยเช่นเดียวกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนพ.ค. 58 ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นั้นสะท้อนถึงความกังวลของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 65.0 จุด โดยปรับตัวลดลงมาต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก 1) ครัวเรือนในภาคเกษตรจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคายางพารา และราคาปศุสัตว์และประมง อีกทั้งในปีนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภัยแล้งซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร 2) ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงจำกัดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะสินค้าคงทน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป
3. ญี่ปุ่นเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค. 58 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 41.4
  • รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 41.4 จากเดือนเม.ย.ที่อยู่ที่ 41.5 ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทพบว่า ดัชนีภาวะการจ้างงานปรับตัวลดลง 1.4 จุด มาอยู่ที่ 47.2 สอดคล้องกับดัชนีความพร้อมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าคงทนใหม่ปรับตัวลดลง 0.1 จุด มาอยู่ที่ 39.6 ในขณะที่ดัชนีความเป็นอยู่ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.4 จุด แตะระดับ 38.8 และดัชนีประเมินการเพิ่มขึ้นของรายได้ขยายตัว 0.5 จุดแตะระดับ 39.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงและต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อน57'ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่น ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องชะลอการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ระยะที่ 2 ซึ่งจากเดิมจะมีกำหนดขึ้นในเดือน ต.ค. 58 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (QoQ_SA) 2.ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.9 จาก 49.9 จุด ในเดือนก่อน 3. ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และ 4. มูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ