รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 12, 2015 14:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2558

Summary:

1. BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 กว่า 3.9 แสนล้านบาท

2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี

3. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเลเซีย เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.1

1. BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 กว่า 3.9 แสนล้านบาท
  • นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 1,094 โครงการ เพิ่มขึ้นจาก 621 โครงการในช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นอนุมัติเงินลงทุนมูลค่าทั้งสิ้น 3.9 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 680 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 680 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปัญหาด้านการเมืองในปี 57 ส่งผลให้ในช่วงนั้น BOI ไม่สามารถอนุมัติโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่า 200 ล้านบาทได้ ทำให้เกิดปัจจัยฐานต่ำ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 58มากกว่าร้อยละ 54.0 ของมูลค่าเงินทุนที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมดเป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลและ BOI โดยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในระดับสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน กิจการซอฟต์แวร์ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 33 ของมูลค่าเงินทุนที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด เป็นโครงการในกิจการบริการและสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 58 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.0 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58)
2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน มิ.ย. 58 ลง 25 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยในคำแถลงของนาย ลี จู เยียล ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดเมอร์สกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 58 จึงทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ใช้นโยบายเชิงรุกโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเกาหลีใต้นี้ นับเป็นการดำเนินนโยบายเชิงรุก เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สที่ยังคงลุกลามและมีการพบผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การรายงานการติดเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 58 โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้แล้ว สะท้อนจากยอดค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 58 ที่หดตัวลงถึงร้อยละ -16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับนักท่องเที่ยวหลายแสนคนได้ยกเลิกการเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้แล้ว นอกจากนี้ การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในปี 58 และนับเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 57 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของทางการเกาหลีใต้ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 57 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดยังคงส่งสัญญาณในเชิงลบ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 ที่หดตัวร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ -10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับก่อนหน้านี้ ในเดือน เม.ย. 58 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 58 ลงแล้วครั้งหนึ่ง จากร้อยละ 3.4 เหลือร้อยละ 3.1 ซึ่งสอดคล้องกับ สศค. ที่คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58 ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 58 จะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี
3. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเลเซีย เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.1
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย ประกาศดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการผลิตสินค้าในทุกหมวดที่ชะลอตัวจากเดือนก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ลดลงในเดือนดังกล่าว สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่มีสัญญาณชะลอลง สอดคล้องกับภาคการส่งออกมาเลเซียที่หดตัวต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่น้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำที่งเป็นผลจากราคาส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหมวดเชื้อเพลิงและพลังงานซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญสัดส่วนร้อยละ 22.1 ของมูลค่าการส่งออกรวมมาเลเซีย ปรับตัวลดลงตาม อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 58 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก บ่งชี้จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจล่าสุด อาทิ ยอดค้าปลีกไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผนวกกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานในไตรมาสดังกล่าวที่ปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ บ่งชี้ถึงเสถียรภาพภายในประเทศที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 58 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ