Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2558
Summary:
1. โฆสิตคาด GDP ไทยปีนี้โตใกล้ร้อยละ 3.0
2. สศก.ปรับลด GDP ภาคเกษตรเหลือโตร้อยละ 1.45 จากภัยแล้ง
3. เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐร่วงลงเป็นเดือนที่ 6 ในเดือน พ.ค. 58
1. โฆสิตคาด GDP ไทยปีนี้โตใกล้ร้อยละ 3.0
- นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 หรืออาจต่ำกว่าเล็กน้อย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบแน่นอน จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 58 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวจากการลงทุนภาคเอกชนและการหดตัวของภาคการค้าต่างประเทศ อย่างก็ไรดี คาดว่าเศรษฐกิจด้านอุปทานจะได้รับแรงสนับสนุนหลักภาคการท่องเที่ยว ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะสามารถขยายตัวร้อยละ 3.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.5 และ 4.3 ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณและการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 และ 4.0 ตามลำดับ ในขณะที่ การส่งออกสินค้าของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เม.ย.58)
2. สศก.ปรับลด GDP ภาคเกษตรเหลือโตร้อยละ 1.45 จากภัยแล้ง
- นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า สศก.ปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร(จีดีพี) ภาคเกษตรของไทยปี 58 เหลือโตร้อยละ 1.45 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 2.5-3.0 ผลจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากอิทธิพลสภาวะโลกร้อน ทำให้การปลูกพืชไม่เป็นไปตามฤดูกาล และรัฐบาลได้งดส่งน้ำทำนาปรังตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และล่าสุดกรมชลประทานขอความร่วมมือจากเกษตรกรชะลอการปลูกข้าวข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปจนถึงปลาย ก.ค.
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -13.3 เป็นการหดตัวต่อเนื่อง และเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.9 ซึ่งไม่เป็นไปตามฤดูกาล เพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังที่โดยปกติจะทำให้ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกตั้งแต่ต้นปีที่หดตัวในระดับสูงถึงร้อยละ -31.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงยาวนานจนส่งผลให้น้ำในเขื่อนสำคัญอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ และกรมชลประทานได้งดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่ปลายปี 57 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถผลิตข้าวนาปรังได้ในฤดูการเก็บเกี่ยวนี้ ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งที่ยังไม่คลี่คลายลงในเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าว และบริเวณเหนือเขื่อนสำคัญๆ ทำให้สถานการณ์น้ำในเขื่อนยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้กรมชลประทานขอความร่วมมือจากเกษตรกรชะลอการปลูกข้าวข้าวนาปี เพิ่มเติมจากที่รณรงค์งดการปลูกข้าวนาปรังไปก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุนี้ สศค. คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 58 นี้ อาจจะชะลอตัว โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีที่จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง
3. เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐร่วงลงเป็นเดือนที่ 6 ในเดือน พ.ค. 58
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ -0.2 ในเดือน พ.ค. 58 ซึ่งเป็นการร่วงลงเป็นเดือนที่ 6 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพ.ค.58 ปรับตัวลงสู่ร้อยละ 78.1
- สศค. วิเคราะห์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สะท้อนถึงภาวะการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อน นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง รวมทั้ง มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ระดับดี สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 59 ในเดือน มิ.ย. 58 บ่งชี้ถึงการปรับตัวขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ หลังจากประสบภาวะซบเซาในช่วงต้นปีจากสภาพอากาศหนาวเย็น
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257