รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2015 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2558

Summary:

1. ธปท.หั่นเศรษฐกิจปี 58 โตร้อยละ 3 ส่งออกเดี้ยง บริโภคเอกชนฟื้นตัวช้า

2. แบงก์ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัว

3. ตลาดกังวลส่งออกอิหร่านล้นกดราคาน้ำมันร่วงต่อ

1. ธปท.หั่นเศรษฐกิจปี 58 โตร้อยละ 3 ส่งออกเดี้ยง บริโภคเอกชนฟื้นตัวช้า
  • ธปท.ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3 จากเดิมที่ประมาณการไว้ร้อยละ 3.8 โดยมีเหตุผลหลักเนื่องจากคาดว่าภาคส่งออกจะติดลบร้อยละ 1.5 จากเดิมคาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 0.8 ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบร้อยละ 0.5 จากผลของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขทางเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันล่าสุด ทำให้สามารถวิเคราะห์ ได้ว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก ยังคงเป็นปัจจัยฉุดที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ สำหรับภาคการส่งออกนั้น มูลค่าการส่งออกในช่วงสี่เดือนแรกของปียังคงติดลบที่ร้อยละ -4.0 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา โดยเฉพาะประเทศจีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ประกอบกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดตกต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกติดลบ นอกจากนี้ เครื่องชี้ต่างๆ ของการบริโภคภาคเอกชนยังคงแสดงให้เห็นว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงมีการชะลอตัว โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีตัวสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ดีในปี 58 นี้
2. แบงก์ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัว

นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีสัญญาณเริ่มดีขึ้นจากสัญญาณร้านสะดวกซื้อมีการขยายตัวกลับมาเป็นบวก ในภาคธุรกิจบางธุรกิจ เริ่มกลับมาโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มเห็น การฟื้นตัวมากขึ้น ทำให้คาดว่าจีดีพีทั้งปีจะเติบโตที่ร้อยละ 3 จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมกลุ่ม ดังกล่าวและภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นปัญหาการส่งออก และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 58 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านอุปทาน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิ ขยายตัวที่ร้อยละ 69.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.5 ของด่านทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย. 58) รวมทั้ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และอาหาร อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวจากอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2-4.2 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58)
3. ตลาดกังวลส่งออกอิหร่านล้นกดราคาน้ำมันร่วงต่อ
  • อิหร่าน ผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 5 ของโลกกำลังอยู่ในช่วงเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตรด้านการส่งออกน้ำมันกับนานาประเทศ โดยการคว่ำบาตรดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่คลี่คลายมากขึ้น ตลาดมีการคาดการณ์ว่าการเจรจาอาจนำไปสู่การยกเลิกการคว่ำบาตรซึ่งจะส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น โดยอิหร่านคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดการส่งออกน้ำมันได้เป็นเท่าตัวภายใน 6 เดือนหลังการยกเลิกการคว่ำบาตร การคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันส่งมอบล่วงหน้าเดือน ก.ค. 58 ทั้งในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอนปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเป็นไปได้ของอุปทานใหม่จากอิหร่านเป็นสิ่งที่จะกดดันราคาน้ำมันดิบทั้งปีนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 57 การเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปริมาณดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มอุปทานของโลกประมาณร้อยละ 1.3 สศค. คาดว่า ความเป็นไปได้ของการคาดการณ์ดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากอิหร่านถูกคว่ำบาตรในรอบที่ผ่านมาล่าสุดมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ทำให้มีการปิดการดำเนินการการผลิตไปหลายส่วน การกลับมาดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพหลังจากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตจำนวนไม่น้อย รวมถึงอุปทานใหม่ของอิหร่านยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการหาผู้ซื้อในสภาพตลาดที่อุปสงค์ชะลอตัว หน่วยงานข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA คาดว่า ผลกระทบด้านราคาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อราคาในช่วงตั้งแต่ 5 ถึง 15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดเริ่มนำเอาปัจจัยการยกเลิกการคว่ำบาตรของอิหร่านเข้ามาพิจารณาในการกำหนดราคาตลาดแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดถึงความคืบหน้าของการเจรจาซึ่งจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ