รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 24, 2015 11:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2558

Summary:

1. ส.อ.ท.เผยยอดขายรถยนต์ในประเทศ พ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -18.3 อยู่ที่ 56,939 คัน

2.ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค. 58 ลดต่ำสุดในรอบ 1 ปี

3. ดัชนี PMI เบื้องต้นของฝรั่งเศสเดือนมิ.ย. ปรับตัวสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี

1. ส.อ.ท.เผยยอดขายรถยนต์ในประเทศ พ.ค. 58 ลดลงร้อยละ -18.3 อยู่ที่ 56,939 คัน
  • รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยการส่งออกรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี58 (ม.ค.- พ.ค.58) มียอดส่งออก รวม 499,299 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 229,536.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.78 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการส่งออกรถยนต์ในเดือน พ.ค.58 ส่งออกได้ 88,937 คัน ลดลงร้อยละ -6.17 ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน พ.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 56.939 คัน ลดลงร้อยละ -18.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่องยาวนานนั้น เนื่องจาก 1) ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำยังคงส่งผลต่ออำนาจการซื้อของผู้บริโภค 2) สถาบันการเงินยังเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และ 3) การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว จากการรอดูความชัดเจนของภารลงทุนของภาครัฐ ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. 58 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ต่ำสุดในรอบ 12 เดือนที่ระดับ 85.4 จากความกังวลต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค การชะลอการใช้จ่ายส่งผลต่อยอดขายลดลงรวมถึงภาวะการแข่งขันและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค. 58 ลดต่ำสุดในรอบ 1 ปี
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนพ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 85.4 ลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงและอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นั้นเป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเกือบทุกภาคของประเทศ (ยกเว้นภาคใต้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น) มีสาเหตุมาจาก 1) ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ฟื้นตัวไม่ชัดเจน 2) ครัวเรือนในภาคเกษตรจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคายางพารา และราคาปศุสัตว์และประมง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ และ 3) ความกังวลของผู้ประกอบการต่อการที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองไทย กรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าประมงและอาหารทะเลกระป๋อง อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่าและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการผลิตและภาคการส่งออกต่อไป
3. ดัชนี PMI เบื้องต้นของฝรั่งเศสเดือนมิ.ย. ปรับตัวสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี
  • ผลการสำรวจมาร์กิต อิโคโนมิคส์ เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของฝรั่งเศส ในเดือนมิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 53.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 46 เดือน โดยจำแนกเป็นดัชนี PMI ภาคการผลิต อยู่ที่ 50.5 จากระดับ 49.4 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 14 เดือน ในขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 54.1 จากระดับ 52.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 46 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของฝรั่งเศส ปรับตัวดีขึ้นนั้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจฝรั่งเศสมีสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปรวม ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหภาพยุโรปส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก 1) GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้าโดยขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว และ 2) จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด อาทิ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนเม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สอดคล้องกับยอดการส่งออก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 ดีขึ้นจากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ